
รู้จัก " ทุ่นระเบิด " กองทัพทหารใบ้ แห่งสงคราม
"ทุ่นระเบิด" ได้รับการเรียกขานในกลุ่มทหารว่า "ทหารใบ้" เพราะมันไม่มีสัญญาณอะไร หากไปเจอหมายถึงชีวิต หลายคนอยากรู้ว่าแต่ละชนิดมีความร้ายแรงมากแค่ไหน เรามีคำตอบ
หลังจากทีมข่าวได้ติดตามทหารหน่วยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย และหน่วยปฏิบัติสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย(TDA) ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจการทำลายทุ่นระเบิดที่ตกค้างจากการต่อสู้ในอดีต จำนวนกว่า 3,000 ลูก ที่เก็บกู้ได้ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในพื้นที่ด่านช่องพริก อ.บัวเชด จ.สุรินทร์
ภารกิจการทำลายได้ประสบความสำเร็จ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันทุ่นระเบิดสากล ของทุกปี ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับทุ่นระเบิด กับจ่าสิบเอก นรสิงห์ อินทรกำแหง หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 จ.สุรินทร์ ว่าทุ่นระเบิดแต่ละลูก แต่ละชนิด มันมีลักษณะรูปร่างเป็นอย่างไร อานุภาพในการทำลายรุนแรงแค่ไหน
จ่าสิบเอก นรสิงห์ อินทรกำแหง เล่าว่า ทุ่นระเบิดทำลายมีหลายชนิด แต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะขนาดของทุ่น หรือ ความสามารถในการทำลาย ยิ่งวันเวลาเปลี่ยนไป ทุ่นระเบิดก็มีการพัฒนามากขึ้น แล้วแต่ละประเทศที่ผลิต บางชนิดมีขนาดเล็กไม่ใหญ่มาก แต่พอเดินไปเหยียบ หรือไปสัมผัสมันตามกลไกที่ตั้งไว้ ทำให้ชนวนติดและระเบิดขึ้นมา ก็สามารถทำลายข้าศึกได้หลายคน
จ่าสิบเอก นรสิงห์ เล่าต่ออีกว่า ทุ่นระเบิดไม่ใช่แค่ทำลายกำลังพลเท่านั้น แต่มีทุ่นระเบิดที่ทำลายรถถังด้วย หรือที่ทหารเรียกกันว่า "ทุ่นระเบิดดักรถถัง" ทุ่นระเบิดชนิดนี้ จะมีแรงระเบิดที่สูง การวางกลไกเพื่อให้ทำงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันจะรับน้ำหนักตั้งแต่ 200 กิโลกรัมขึ้นไป ถ้าคนปกติเดินไปเหยียบมันก็จะไม่ทำงาน แต่ถ้าเป็นรถถังหรือรถยนต์ที่มีน้ำหนักมากๆ เคลื่อนไปทับเข้า กลไกจะทำงานและระเบิดทันที
"บางทีทุ่นระเบิดก็ไม่จำเป็นต้องฝังดิน เอาลูกปืน ลูกระเบิด หรือที่เรียกกันทางทหาร ว่า สรรพาวุธระเบิด มาดัดแปลงเป็นทุ่นระเบิด เช่น เอาลวดมาผูกกับที่จุดชนวนติดกับลูกระเบิด แล้วขึงลวดขวางทางเดิน พอข้าศึกเดินมาเตะลวดทำให้จุดชนวนก็จะระเบิดทำลายได้เหมือนกัน" จ่าสิบเอก ทิ้งท้ายเอาไว้
จากที่พอรู้ข้อมูลต่างๆ ของทุ่นระเบิดแต่ละชนิด จึงนำภาพทุ่นระเบิดที่ทางหน่วยทหารได้เก็บกู้ได้มาให้ชม บางชนิดอาจจะไม่ใช่ทุ่นระเบิดที่ตกค้าง แต่ถูกนำมาโชว์ให้ดู เพื่อเป็นความรู้แก่พลเรือน และให้ตระหนักถึงอานุภาพที่ร้ายแรง และผลกระทบที่สร้างความสูญเสีย
เรื่อง/ภาพ วัชรชัย คล้ายพงษ์ (Watcharachai Klaipong) NationPhoto