ข่าว

"อุดมเดช" ลงพื้นที่พัฒนาท่าเรือปัตตานี

"อุดมเดช" ลงพื้นที่พัฒนาท่าเรือปัตตานี

29 มี.ค. 2560

ครม.สน.หารือสำนักงบประมาณ เร่งการพัฒนาท่าเรือปัตตานี ศูนย์กลางด้านการค้าประมง 3 จังหวัดชายแดนใต้


               29 มี.ค. 60  เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ ท่าเทียบเรือปัตตานี  พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการปรับปรุงที่เทียบเรือปัตตานี พร้อมทั้งรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อรับฟังปัญหา และอุปสรรค์ในการดำเนินการ เพื่อนำมาข้อมูลไปเสนอกับยังรัฐบาล ในการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

 

\"อุดมเดช\" ลงพื้นที่พัฒนาท่าเรือปัตตานี

 

               เพื่อเร่งแก้ไขและพัฒนาท่าเทียบเรือปัตตานี ให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าด้านการประมงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมง ทั้งประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยท่าเทียบเรือปัตตานีแห่งนี้ มีปริมาณสัตว์น้ำเข้าท่าเรือกว่า 99,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นท่าเรือที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อก้าวสู่ท่าเทียบเรือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมธุรกิจด้านการประมงให้เกิดความยั่งยืน

               โดยคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมการประกอบการของโรงงานอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพการทำประมง เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและขยายโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับธุรกิจประมงที่จะขยายตัวในอนาคต พร้อมทั้งร่วมสำรวจอ่าวปัตตานี ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา เนื่องจากปัญหาของความตื้นเขินของอ่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวประมงโดยตรง

 

\"อุดมเดช\" ลงพื้นที่พัฒนาท่าเรือปัตตานี

 

               เนื่องจากช่วงหน้าแล้งบริเวณท่าเทียบเรือจะตื้นเขิน ทำให้เรือประมงไม่สามารถนำเรือมาจอดได้ ส่งผลให้ปริมาณของเรือที่เข้าจอดที่ท่าเทียบเรือมีปริมาณน้อยลง จึงจำเป็นจะต้องมีการขุดลอกให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่กำหนดไว้ใน Roadmap ของการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้

               พล.อ.อุดมเดช เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ว่า เดินทางลงมาตรวจดูท่าเทียบเรือประมงปัตตานีเพราะเป็นจุดสำคัญของเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเท่าที่รับฟังข้อมูลและดูพื้นที่แล้วก็พบว่า เรือประมงจากที่ต่างๆ และสัตว์น้ำทั้งหมดจะเข้าที่ท่าเทียบเรือปัตตานีและจะกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ

 

\"อุดมเดช\" ลงพื้นที่พัฒนาท่าเรือปัตตานี

 

               ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากพื้นที่ขณะนี้ เป็นเรื่องของสภาพสุขาภิบาลที่ต้องมีการจัดระเบียบ ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้เกิดทำท่วม ซึ่งทางผู้ว่าปัตตานีก็ได้มีการของบประมาณแล้ว 40 ล้านบาท เพื่อมาแก้ปัญหา แต่ท่าเรือแห่งนี้ยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพในเรื่องการจัดทำอาคารคลังสินค้า การทำตลาด รวมไปถึงอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการเร่งด่วน ขณะนี้ทางจังหวัดกำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพราะผู้ประกอบการต้องการสิทธิพิเศษบางอย่างเพื่อเป็นความจูงใจให้มาลงทุน ยอมรับว่าเศรษฐกิจในพื้นที่มีผลโดยตรงกับความเป็นอยู่ของประชาชน ฉะนั้นจะต้องเร่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้น

               นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ อ่าวปัตตานีที่มีปัญหาเรื่องตื้นเขิน และหากทำการขุดลอกที่ถูกต้องก็จะเป็นปัญหาในเรื่องของเรือที่จะเข้ามาไม่สะดวก จำนวนเรือที่จะนำวัตถุดิบเข้ามาก็จะมีปริมาณที่น้อยลงก็จะทำให้ศักยภาพที่ควรจะเป็นไปได้มากก็ไม่สามารถทำได้ จึงต้องมีการขุดลอกร่องน้ำให้ถูกต้องและให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ขณะที่อุตสาหกรรมการแปรรูปก็ต้องขยายเพื่อให้ได้ศักยภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด

 

\"อุดมเดช\" ลงพื้นที่พัฒนาท่าเรือปัตตานี

 

               ส่วนโครงการเร่งด่วนที่สุด คือ ปรับปรุงท่าเทียบเรือให้มีความสมบูรณ์เพื่อยกระดับให้สามารถรองรับสิ่งต่างๆ ได้เต็มศักยภาพ โดยตั้งงบประมาณไว้ 300 กว่าล้านบาท ซึ่งปีนี้ได้มา 40 ล้าน และปี 2561 ได้ใช้งบจังหวัด 168 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่ครบ จึงต้องไปดูว่าสำนักงบประมาณจะเพิ่มเติมได้มากน้อยแค่ไหน เพราะท่าเรือทุกพื้นที่ทุกภาคมีความจำเป็นต้องมีงบประมาณ ฉะนั้นสำนักงบประมาณก็จัดสรรตามเหตุตามผล

               แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบที่ส่งผลกระทบหลายอย่าง ฉะนั้นต้องสร้างความเจริญและสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ก็จะทำให้ปัญหาลดน้อยลง รัฐบาลอยากให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของรัฐบาลขยายตัวออกไป ไม่ใช่กำหนดแค่อำเภอหนึ่งของจังหวัดเท่านั้น แต่ต้องเป็นทุกอำเภอเพื่อให้ทั้งจังหวัดมีความสมบูรณ์ ฉะนั้นทุกหน่วยงานต้องช่วยกันยกระดับด้วยความตั้งใจจริง เพราะเราหวังว่า ท่าเทียบเรือประมงปัตตานีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการประมงให้มีประสิทธิภาพและจะยกระดับความเจริญยิ่งขึ้น