
ประวัติศาสตร์แห่งปลายด้ามขวาน(1)
สังคมไทยถูกวิจารณ์ว่าให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์น้อยมาก เป็นแค่เพียงวิชาเรียนที่น่าเบื่อหน่ายในวัยศึกษา และเป็นเรื่องของคนคร่ำครึเมื่อพ้นวัยศึกษา แตกต่างจากหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์เพื่อนำมาเป็นบทเรียนสำหรับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แทนที่
ลองย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของดินแดนปลายด้ามขวานดูบ้าง บางทีอาจจะนำไปสู่แนวทางใหม่ๆที่จะทำให้สันติสุขกลับคืนมาสู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และประเทศชาติเป็นส่วนรวมของเรา
ในดินแดนที่เรียกกันว่า “แหลมทอง” นั้น ดั้งเดิมประกอบด้วยผู้คนต่างเชื้อชาติ เช่นไทย มอญ ลาว ฯลฯ ส่วนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ประกอบด้วยคนเชื้อชาติมลายูเป็นหลัก จนกระทั่งในประมาณสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 ซึ่งมีการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยของ “คนไทย” นั้น อาณาจักรปะตานีของคนมลายูก็มีการก่อรูปขึ้นมาพร้อม ๆ กัน
สำหรับในส่วนของ “คนไทย” เองนั้น ในความเป็นจริงก็มิได้รวมเป็น “ราชอาณาจักรเดียวกัน” ดังเช่นทุกวันนี้ แต่แบ่งแยกกันเป็น “นครรัฐ (City State)” ต่างๆ เช่น อู่ทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา เป็นต้น ห้วงเวลาใดที่นครใดมีอำนาจเข้มแข็งก็จะเป็นศูนย์กลางการปกครองแผ่อิทธิพลเหนือนครอื่นๆ รวมทั้งอาณาจักรปะตานีในบางห้วงเวลา
คำบรรยายของ รศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เมื่อ 9 มิถุนายน 2551 ตอนหนึ่งมีใจความว่า
“ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรไทยกับมลายูในอดีต เป็นระบบความสัมพันธ์บรรณาการ คือรัฐหรืออาณาจักรที่มีอำนาจมากกว่า ก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนาจในการควบคุมเหนืออาณาจักรเล็กและอำนาจน้อยกว่า เรียกว่า ระบบมณฑล เหมือนเทียนไขที่มีแสงมากในตรงกลาง แล้วค่อยๆ กระจายอำนาจจางลงเมื่อออกไปรอบนอก ระบบดังกล่าวเน้นที่ความจงรักภักดีระหว่างผู้มีอำนาจปกครองกับผู้ที่ถูกปกครอง ไม่ได้เน้นที่ดินแดนหรือเส้นเขตแดน หากแต่ถือเอาจิตใจคน (ผู้นำ) เป็นสำคัญมากกว่าทางวัตถุ เรียกว่าเมืองประเทศราช หรือ สามนตราช สัญลักษณ์ของระบบบรรณาการคือการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทอง (บุหงามาศ) ทุกสามปี ระบบบรรณาการจึงเปิดช่องให้รายาหรือกษัตริย์ของปะตานียังมีอำนาจในการปกครองเหนือประชาชนมุสลิมของตนอยู่”
หากยอมรับในความจริงกันว่า ย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ก่อนที่คำว่า “ราชอาณาจักรไทย” จะมีขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นคนไทยด้วยกัน แต่อาณาจักรไทยก็มิได้เป็น “หนึ่งเดียวกัน” แต่แบ่งเป็นอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรสุพรรณ อาณาจักรอยุธยา ฯลฯ ยุคใดสมัยใดอาณาจักรใดกล้าแข็งก็จะกลายเป็นศูนย์กลางการปกครอง เมื่อใดที่ตกต่ำอาณาจักรอื่นก็จะขึ้นมีอำนาจเหนือ หมุนเวียนเปลี่ยนไปเช่นนี้ แต่ละอาณาจักรจึงมีความเป็นอิสระในการปกครองตัวเอง โดยมีความสัมพันธ์แบบบรรณาการกับศูนย์กลางอำนาจ
รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อธิบายว่า...
“อาณาจักรปะตานีเคยมีอำนาจปกครองเป็นของตัวเอง แต่จะอิสระหรือเป็นเอกราชแค่ไหนนั้นเป็นอีกปัญหา เพราะในระบบความสัมพันธ์อำนาจแบบบรรณาการ ไม่เคยมีรัฐไหนมีอำนาจที่เป็นอิสระหรือเป็นเอกราชได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอำนาจของอาณาจักรโบราณเป็นอำนาจเชิงสัมพัทธ์ เน้นที่การมีอำนาจมากหรือน้อย โดยดูจากสัมพันธภาพกับอีกอาณาจักรหนึ่งในรัศมีเดียวกัน ดังนั้นการเป็นอิสระจึงหมายถึงว่ายังไม่ถูกอาณาจักรอื่นเข้ามายึดหรือแย่งอำนาจไป”
ความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการระหว่างอาณาจักรปะตานีกับอาณาจักรไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงในยุครัตนโกสินทร์กลายเป็นระบบความสัมพันธ์แบบกึ่งอาณานิคม เมื่ออาณาจักรไทยเข้าไปทำการปกครองโดยตรงเหนืออาณาจักรปะตานีมากขึ้น จนกลายเป็นเสมือนเมืองขึ้นของไทยไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ราชอาณาจักรไทย” ในที่สุด
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาเช่นนี้ มิได้เกิดขึ้นที่ดินแดนขวานทองเพียงแห่งเดียวในโลก เพราะแทบทุกประเทศล้วนมีที่มาแห่งการก่อกำเนิดในทำนองเดียวกันนี้ด้วยกันเกือบทั้งสิ้น
เพียงแต่ประวัติศาสตร์ที่ปลายด้ามขวานยังมีห้วงเวลาแห่งพัฒนาการที่น่าสนใจอีกหลายยุคหลายสมัยเท่านั้น
พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์