ข่าว

พุทธศาสนาในอินโดนีเซีย

พุทธศาสนาในอินโดนีเซีย

31 ส.ค. 2552

ในสมัยโบราณ ชาวพุทธในอินโดนีเซียมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญจากประเทศนี้ไประยะหนึ่ง และจะกลับคืนมาใหม่หลังจากที่เวลาผ่านไป 500 ปี

 พุทธศาสนาได้เข้ามาสู่อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งมีดินแดนส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันนี้ ต่อเนื่องมาถึงคาบสมุทรมลายู และตอนใต้ของประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นจัดว่าเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองท่าปาเลมบัง ศาสนาพุทธที่เข้ามาในครั้งนั้นเกิดจากอิทธิพลจาก ราชวงศ์โจฬะ ของอินเดียตอนใต้ และ ราชวงศ์ปาละ ของเบงกอล ซึ่งทั้งสองสายล้วนเป็นพุทธศาสนา นิกายวัชระยาน หรือ ตันตระ อาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 600 ปี จากปี พ.ศ. 1200-1800 หลังจากนั้นสิงหัสสาหรี และอาณาจักรมัชปาหิต ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู และมีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะชวาก็ขึ้นมามีอำนาจแทน

 จนถึง พ.ศ. 1930 พ่อค้าชาวอาหรับผู้หนึ่งได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ และพยายามชักจูงให้ พระเจ้าองควิชัย กษัตริย์ของมัชปาหิตเข้ารีต แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงหันไปเกลี้ยกล่อม ระเด่นปาตา ราชโอรสของพระเจ้าองควิชัยแทน ต่อมาระเด่นปาตาได้ปลงพระชนม์พระเจ้าองควิชัย แล้วประกาศตนเป็นสุลต่าน กับให้ประชาชนในอาณาจักรของพระองค์นับถือศาสนาอิสลามแทนศาสนาฮินดู ซึ่งตรงนี้มีบางตำรากล่าวว่าระเด่นปาตามีชายาเป็นมุสลิม จึงได้เข้ารีตตาม เมื่อเปลี่ยนศาสนาแล้วได้บังคับให้เจ้านายและราษฎรนับถือศาสนาอิสลามด้วย แต่โอรสองค์หนึ่งซึ่งนับถือพุทธศาสนาไม่ยินยอม ได้เดินทางหนีออกจากอาณาจักร และประกาศว่าอีก 500 ปี พุทธศาสนาจะกลับคืนมาใหม่

 ศาสนาพุทธได้สูญหายไปจากอินโดนีเซียเป็นเวลานาน จนกระทั่งพุทธสถานบูโรพุทโธ อันเก่าแก่และใหญ่โตซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอาณาจักรศรีวิชัย เหลือเพียงซากปรักหักพังที่จมอยู่ใต้ดินทราย จนถึง พ.ศ. 2497 จึงมีชาวอินโดนีเซียผู้หนึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรก โดยมีพระพม่าเป็นอุปัชฌาย์ พระองค์นี้ได้รับฉายาว่า พระชินรักขิต ซึ่งในเวลาต่อมาท่านได้แต่งกายและไว้หนวดเคราแบบหลวงจีน ทำให้ได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มชาวจีนในอินโดนีเซียในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในปี 2511 พระชินรักขิตได้มีโอกาสเฝ้า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็น พระสาสนโสภณ ซึ่งเดินทางไปดูกิจการพระพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย พระชินรักขิตจึงทูลขอให้คณะสงฆ์ไทยส่งพระธรรมทูตไปเผยแพร่ศาสนา

 ในปี 2512 สมเด็จพระญาณสังวร ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตฯ มหาเถรสมาคม จึงได้จัดส่งพระธรรมทูต จำนวน 4 รูป มี พระราชวราจารย์ (วิญญ์วิชาโน) ขณะนั้นเป็นพระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ เป็นหัวหน้า เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและนำคณะสงฆ์สยามวงศ์ไปสู่อินโดนีเซีย

 พระราชวราจารย์ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับหมอบหมายจากสมเด็จพระญาณสังวรเป็นอย่างดียิ่ง โดยอุทิศตัวเพื่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้นเป็นเวลาถึง 30 ปี จนได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากพุทธศาสนิกชนอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก จนท่านถึงแก่มรณภาพ ในพ.ศ. 2549 ขณะอายุได้ 83 ปี และร่างของท่านก็ได้รับพระราชทานเพลิงศพที่บริเวณบูโรพุทโธ

 ปัจจุบันนี้มีวัดพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย ประมาณ 150 วัด โดยเป็นวัดในนิกายมหายาน 100 วัด และวัดในนิกายหินยาน 50 วัด อย่างไรก็ตาม พระภิกษุยังมีจำนวนน้อย วัดส่วนใหญ่จึงมีชาวบ้านเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ องค์การวาลูบี ซึ่งเป็นองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์ของอินโดนีเซีย ประมาณว่ามีผู้ที่นับถือพุทธศาสนาในประเทศนี้ ประมาณ 12-15 ล้านคน

 พระอาจารย์ปญฺญาธโร พระธรรมทูต และเจ้าอาวาสวัดไทยที่บูโรพุทโธ เล่าให้ผมฟังว่าวัดที่ท่านจำพรรษาอยู่ในเวลานี้ เป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของชาวพุทธในอินโดนีเซีย ประกอบด้วยโบสถ์ และเสนาสนะ แต่มีพระเพียง 2 รูป คือท่านกับพระภิกษุชาวอินโดนีเซีย อีก 1 รูป และมีภารกิจที่จะต้องเดินทางไปเยี่ยมญาติโยมตามวัดซึ่งอยู่ห่างไกลเข้าไปในป่าอีก 2-3 วัด ซึ่งวัดเหล่านั้นไม่มีพระภิกษุจำพรรษา และบางวัดก็อยู่ไม่ห่างจากที่ตั้งของ กลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) มากนัก เมื่อเวลาที่มีพระภิกษุไปเยี่ยมเยียนชาวพุทธก็จะพากันมาฟังธรรมและสอบถามปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับศาสนา และบางครั้งก็จะมีสมาชิกของ เจไอแฝงตัวเข้ามาด้วย ซึ่งพระอาจารย์ก็บอกว่า ทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ และพุทธศาสนาก็มิได้เป็นอันตรายกับใคร

 นับถึงปีนี้ พระธรรมทูตไทยก็ได้เดินทางไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซียมาเป็นเวลาถึง 40 ปีแล้ว ซึ่งทั้งนี้ก็ด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โดยแท้