
สุดยอด9พันธุ์ข้าวพื้นเมือง!
โดย - โต๊ะข่าวเกษตร
พันธุ์ข้าวพื้นเมืองในประเทศไทยของเรา มีนับร้อยๆสายพันธุ์ แต่ที่ได้รับความนิยมเลื่องชื่อถึงความอร่อยก็มีไม่น้อย และในจำนวนนั้นที่นับว่าเป็นสุดยอดของข้าวพันธุ์พื้นเมือง ไปดูกันเลยว่ามีข้าวอะไรบ้าง?
1.ข้าวสังข์หยด จ.พัทลุง เป็นข้าวที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศรับรอง ตั้งแต่วันที่ 23 มิถ.ย.2549 ให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์พันธุ์แรกของประเทศไทย (จีไอ) โดยชื่อข้าวสังข์หยดหมายถึง ข้าวที่ผลิตตามระบบการตรวจรับรองการผลิตตามระบบการจัดการคุณภาพ (GAP) และภายใต้เงื่อนไขสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ข้าวสังข์หยด
2.ข้าวลืมผัว ข้าวไร่ที่เป็นข้าวเหนียวนาปีของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 3 ต.รวมไทยพัฒนา อ.พบพระ จ.ตาก สูงจากระดับน้ำทะเล 650 เมตร โดยคุณพนัส สุวรรณธาดา เจ้าพนักงานการเกษตร ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ นำมาคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ ระหว่างปี 2534-2538
3.ข้าวเสาไห้ มีลักษณะที่โดดเด่น คือ เมล็ดสวย เรียวยาว ถ้าเป็นข้าวเกี่ยวจะเป็นข้าวเคี่ยว คือ หุงขึ้นหม้อ ถ้าเป็นข้าวใหม่เมื่อหุงแล้วจะนุ่มหอมมีลักษณะคล้ายกับข้าวหอมมะลิทั่วไป แหล่งที่พบบ้านเสาไห้ ต.เสาไห้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
ลืมผัว-เสาไห้
4.ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเจ้านาปี กลายพันธุ์มาจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งพบในแปลงปลูกของสถานีทดลองข้าว จ.สุรินทร์ พ.ศ.2525-2526 จากการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของข้าวพันธุ์หลัก ขาวดอกมะลิ 105 ที่สถานีทดลองข้าวสุรินทร์ ซึ่งมี คุณบุญโฮม ชำนาญกุล ผอ.สถานีขณะนั้น พบว่า ในรวงข้าวหนึ่งมีเมล็ดที่เป็นข้าวเหนียวปนอยู่ จึงแยกเมล็ดที่เป็นข้าวเหนียว และแยกเมล็ดแต่ละรวงไปปลูกศึกษาลักษณะต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2542 จนขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร เป็นพันธุ์ข้าวทั่วไป ใช้ชื่อว่า “ข้าวหอมแดง” (Red Hawm Rice) หรือ มะลิแดง
5.ข้าวหอมนิล จัดเป็นข้าวนาสวน ไม่ไวแสง ปลูกได้ทั้งปี การแตกกอดี ต้นสูง 75 เซนติเมตร ใบและลำต้นสีเขียวอมม่วง เมล็ดข้าวยาว 6.5 มิลลิเมตร สีม่วงดำ อายุเก็บเกี่ยว 95-100 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 400-700 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้านทานต่อโรคไหม้
หอมมะลิแดง-หอมนิล
6.ข้าวเล็บนก หรือเฉี้ยงพัทลุง อีกหนึ่งสายพันธุ์ขึ้นชื่อของ จ.พัทลุง ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้ดี ปลูกได้ในหลายท้องที่ทุกจังหวัดในภาคใต้ อายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ปลูกได้ในพื้นที่ที่มีชลประทาน และที่อาศัยน้ำฝน
7.ข้าวพญาลืมแกง เป็นข้าวไร่พื้นเมือง รวบรวมได้จาก อ.บ้านแพง จ.นครพนม ขึ้นชื่อเรื่องความอ่อนนุ่ม รสชาติอร่อย มีคุณสมับติพิเศษคือไวต่อช่วงแสง ต้นสูงราว 150 เซนติเมตร ลำต้นอ่อน ล้มง่าย แตกกอน้อย ใบสีเขียวแก่ ใบธงห้อย รวงยาว จับถี่ เมล็ดแบน เปลือกเกลี้ยง สีเหลืองอ่อน มีหางยาว เมล็ดข้าวสารสีขาวขุ่น เก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม
ข้าวเล็บนก-พญาลืมแกง
8.ข้าวเหลืองปะทิว ข้าวประจำจังหวัดชุมพร อีกหนึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเลื่องชื่อของภาคใต้ ประจำ อ.ปะทิว จ.ชุมพร มีอายุมานานกว่าสองร้อยปีแล้ว และ
9.ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว คณะเทคโนโลยี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มะลิโกเมนท์-เหลืองปะทิว
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้าวพิ้นเมืองอีกหลากหลายสายพันธุ์ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และควรมีการต่อยอดสู่งานวิจัยในอนาคต