ข่าว

“แทนทอง”ชนะยกแรกหลังสู้คดีถูกปลดพ้นตลาดยิ่งเจริญ

“แทนทอง”ชนะยกแรกหลังสู้คดีถูกปลดพ้นตลาดยิ่งเจริญ

02 ก.พ. 2560

“แทนทอง”ชนะยกแรก หลังสู้คดี อาสาว เกือบปี ศาลแพ่ง พิพากษา“นฤมล ธรรมวัฒนะ”– กลุ่มบริษัทสุวพีร์-ยิ่งเจริญ สั่งปลดพ้นกก.ตลาดยิ่งเจริญ

          2 ก.พ. -- ศาลมีคำพิพากษาคดีที่นายแทนทอง ธรรมวัฒนะ อายุ 32 ปีบุตรชายของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ อดีต ส.ส. กทม.พรรคประชากรไทย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด , บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด , บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง 2 จำกัด , บริษัท ยิ่งเจริญน้ำใส จำกัด , บริษัท การเรือนยิ่งเจริญ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทบริหารการให้เช่าพื้นที่ตลาดยิ่งเจริญ และ น.ส.นฤมล ธรรมวัฒนะ อาของนายแทนทอง รวม 6 สำนวน (คดีหมายเลขดำ พ.2345-2350 /2559)  ซึ่งศาลให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยนายแทนทอง โจทก์ ยื่นฟ้อง จำเลยทั้งเจ็ด เมื่อวันที่ 25 พ.ค.57 เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ของบริษัททั้งหกแห่ง เมื่อวันที่ 27 เม.ย.59 ที่มีมติถอดถอนนายแทนทอง โจทก์ ออกจากการเป็นกรรมการบริษัททั้งหก
            ตามฟ้องระบุว่า น.ส.นฤมล จำเลยที่ 7 แจ้งที่ประชุมว่า นายแทนทอง โจทก์ ได้ยื่นฟ้อง น.ส.นฤมล จำเลยที่ 7 ต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำ พ.1267/2559 ถือเป็นปฏิปักษ์กับจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัท จำเลยจึงขอให้ที่ประชุมลงมติถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัททั้งหมด โดยจำเลยที่ 7 เป็นคนแรกที่ลงคะแนนถอดถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการ ซึ่ง น.ส.คนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ อาอีกคนของโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านและลงมติไม่ถอดถอนโจทก์ ส่วนกรรมการคนอื่นงดออกเสียง น.ส.นฤมล จำเลยที่ 7 จึงใช้สิทธิในฐานะประธานที่ประชุมลงคะแนนถอดถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการ ต่อมาวันที่ 28 เม.ย.59 บริษัทจำเลยที่ 1-6 ได้นำมติที่เพิกถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการ ไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการบริษัท โดยจำเลยทั้งเจ็ดจัดการประชุมขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ 7 กระทำการกลั่นแกล้งโจทก์
            ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดแล้วเห็นว่า การเรียกประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ต้องเป็นการเรียกประชุมโดยคณะกรรมการของบริษัทฯ มีมติร่วมกันให้มีการจัดประชุมแต่ปรากฏว่า ก่อนจะมีหนังสือเรียกประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นนั้น ในวันที่ 6 เม.ย.59 จำเลยทั้งเจ็ดได้มีการจัดประชุมขึ้นโดย น.ส.นฤมล จำเลยที่ 7 แจ้งในที่ประชุมว่าจะมีการจัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 เม.ย.59 เท่านั้น โดยไม่มีการจัดให้กรรมการที่เข้าประชุมลงคะแนนหรือมีมติว่าจะจัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นในวันดังกล่าวหรือไม่
            ดังนั้น เมื่อไม่มีการลงมติจากคณะกรรมการฯ ให้จัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 อันเป็นการไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการเรียกประชุม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1172 การจัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ของจำเลยที่ 1-6 และการลงมติประชุมดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติที่ประชุมที่ให้ถอดถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการบริษัท จึงไม่มีผลตามกฎหมาย ถือเป็นมติที่ประชุมอันผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195
             ศาลแพ่ง จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 27 เม.ย.59 และให้จำเลยทั้งเจ็ด ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการที่ได้ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ของวันที่ 28 เม.ย.59 หากจำเลยทั้งเจ็ดเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ผลคดีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด โดยคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลได้ภายใน 1 เดือน