
“กระเช้าผีมด"ถอนพิษไข้
โดย - นายสวีสอง
"กระเช้าผีมด" เป็นว่านที่พบได้ตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ชอบอาศัยเปลือกไม้เนื้อแข็ง เช่น เปลือกต้นมะขาม ต้นมะม่วง ต้นประดู่ ฯลฯ มีสรรพคุณทางยาช่วยถอนพิษไข้
สรรพคุณ : ใบ ต้น ราก มีรสเผ็ดขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ,รักษาโรคทางเดินปัสสาวะที่ติดเชื้อ,ช่วยลดอาการบวมน้ำ,แก้ปวดหัว ,แก้โรคผิวหนัง,ขับพิษที่ติดจากเชื้อไวรัส หรือพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ,ใช้แก้ปวดบวม แก้อักเสบ กระเพาะอักเสบ ไขข้อปวดบวม
วิธีใช้ : - นำใบมาตำพอกที่ศรีษะ ช่วยแก้อาการปวดหัว และแก้โรคผิวหนัง
- นำใบมาเผาให้ร้อน วางนาบไว้บนท้องหรือตามแขนขาที่บวม จะช่วยแก้อาการปวดบวมได้
- ใช้ลำต้นนำมาต้มให้เด็กที่มีอาการไม่สบายอาบ จะช่วยให้เด็กมีอากรดีขึ้น
- ชาวม้งจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบรรเทาอาการปวดเอว โดยใช้การประคบ
- กรณีใช้ต้มน้ำดื่ม ให้ใช้ครั้งละ 6-12 กรัม หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่นๆ ในตำรายาตามความต้องการ
จัดเป็นพรรณไม้เลื้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ Aristolochia tagala Cham. มีชื่ออื่นๆ ผักห่ามป่าย ผักห่ามหนี คอหมู่เด๊าะ
ต้น เป็นเถา พบขึ้นกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ บนพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 5-1,030 เมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ขนาดกว้างประมาณ 5.8-7.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9.5-16.5 เซนติเมตร
ดอก เป็นช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 6-13.5 เซนติเมตร มีขน เป็นดอกที่มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน
ผล ค่อนข้างกลม รูปไข่ โคนก้านและปลายผลยังติดกันอยู่ รูปร่างคล้ายกระเช้า ภายในผลมีเมล็ดหลายเมล็ด สีน้ำตาลอ่อน
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด
ที่มา : ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.,หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อย, หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กระเช้าผีมด”. หน้า 120-124.