
"ไฟทอปธอร่า”มหันตภัยมากับน้ำท่วม!
โดย - โต๊ะข่าวเกษตร
หากย้อนไปเมื่อปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย มีสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มรวมทั้งสิ้น 285,225 ไร่ แยกเป็นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 281,248 ไร่ และเสียหายจากดินถล่ม 3,977 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ได้เกิดโรคระบาด “ไฟทอปธอร่า” กว่า 6 หมื่นไร่ แต่ยางพาราพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 ซึ่งปลูกมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 80% ของสวนยางทั้งหมด ทำให้หลายฝ่ายต่างเป็นห่วงหากเชื้อราไฟทอปธอร่ากลายพันธุ์เป็นเชื้อที่รุนแรงเหมือนที่เคยระบาดในบราซิลในอดีต
แม้สถานการณ์ครั้งล่าสุดภาพรวมจะน้อยกว่าปี 2554 แต่สำหรับพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันบางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่นั้น ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ มีพื้นที่การเสียหายตามตัวเลขของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สำรวจมี 1,091,983 ไร่ ในจำนวนนี้ทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สรุปความเสียหายเฉพาะสวนยางพาราถึง 739,926 ไร่ ขณะที่สถาบันยางพาราสรุปว่าอาจมากกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่กำลังประสบกับการระบาดโรค “ไฟทอปธอร่า” แล้วนับแสนไร่
นายอุทัย สอนทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาคใต้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรหลายจังหวัด และเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 และหนักที่สุดในรอบ 20 ปี ทำให้สวนยางพาราเสียหายนับล้านไร่ แต่ตัวเลขของกยท. มีเพียงกว่า 7 แสนไร่เท่านั้น แต่เหลืออีกจำนวนมากในพื้นที่กันดารและที่เกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียน จึงมองว่าการช่วยเหลือจากรัฐบาลจะกระจุกในพื้นที่ ที่ผ่านการสำรวจจะเป็นกลุ่มของเครือญาต พรรคพวกเจ้าหน้าที่เท่านั้น
“ปัญหาของชาวสวนหนักที่สุดคือในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึง สิงหาคม 2559 เกิดภาวะแล้ง น้ำยางแห้ง ไม่สามารถกรีดยางได้ พอเริ่มมีฝนน้ำก็ท่วมอีก และที่เลวร้ายที่สุดของชาวสวนยางคือพื้นที่ถูกน้ำท่วมนับล้านไร่ต้องประสบกับการระบาดของเชื้อราไฟทอปธอร่า หรือที่ชาวบ้านรู้จักในนามโรคไฟทอปธอร่า ทำให้ต้นยางใบร่วง เป็นปัญหาตามมา ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ก็จะถึงฤดูกาลผลัดใบอีก เมื่อต้นยางเจอโรคไฟทอปธอร่าระบาดจะทำให้ผลิใบก็ช้า เพราะต้นยางไม่สมบูรณ์ ผมไม่แน่นใจว่าเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนนี้ชาวสวนยางจะกรีดยางได้หรือไม่ ตอนนี้ยางราคากิโลกรัมละกว่า 90 บาท แต่ชาวภาคใต้ไม่สามารถกรีดได้ รัฐต้องหาแนวทางในการช่วยเหลือด่วน” นายอุทัย กล่าว
นายอุทัย สอนทรัพย์
ด้าน นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่าโรคไฟทอปธอร่ากลายเป็นโรคประจำถิ่นของภาคใต้เสียแล้ว เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่าชนิดเดียวกันกับที่ระบาดในสวนทุเรียน แต่ในสวนยางพาราจะระบาดเฉพาะยางพาราพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 เท่านั้น จนชาวบ้านมีความเคยชินไปแล้ว เบื้องต้นอาจไม่รุนแรงเหมือนการระบาดในปี 2554
“ปกติต้นยางพาราที่ถูเชื้อราไฟทอปธอร่าระบาดจะมีลักษณะอาการใบร่วง ก้านใบช้ำสีดำมีน้ำยางเกาะติดอยู่ ฝักยางจะเน่าดำ จะแพร่ระบาดมากในพื้นที่น้ำท่วมและความชื้นสูง แต่ในปี 2554 เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน จากที่แดดจัดทุกวันจู่ๆฝนกระหน่ำและเกิดน้ำท่วมฉับพลับทำให้การระบาดของเชื้อราไฟทอปธอร่ามีอาการผิดปกติ คือต้นยางเกิดอาการปลายยอดตาย และลามถึงต้น ทำให้ต้นยางพาราตายจำนวนมาก แต่ปีนี้คิดว่าคงไม่เป็นเช่นนั้น” นายเชาว์ กล่าว
นายเชาว์ ทรงอาวุธ
เพื่อความไม่ประมาทรองผู้ว่าการกยท.บอกว่า ให้เจ้าหน้าสังกัดการยางแห่งประเทศทุกจังหวัดช่วยตรวจสอบและแนะนำเกษตรกรว่าหากเกิดโรคไฟทอปธอร่าระบาด ไม่ควรใช้สารเคมีต่อสู้กับโรคนี้ เพราะจะไม่คุ้มกับการลงทุน ต้องปล่อยไว้เฉยๆ จนกว่าน้ำจะแห้ง จ่ากนั้นให้ฟื้นฟูด้วยการใช้ปุ๋ย หากต้นยางกรีดแล้วให้ใช้ปุ๋ยสูตร 30-5-18 ในปริมาณ 50 กก.ต่อ 1 ไร่ แต่หากต้นยางพารายังไม่กรีดให้ใช้สูตร 20-8-20 ในปริมาณที่ลดลงตามขนาดของอายุต้นยางด้วย หากกรณีพบว่ามีโรคที่มีอาการแปลกไปจากการระบาดของเชื้อราไฟทอปธอร่า ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กยท.ที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี
ขณะที่ รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ บอกว่า โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า สาเหตุ เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora botryosa, P. palmivora, และ P.micortianaevar. parasitica) ในประเทศไทยจะพบแต่ P. palmivora, และ P.micortianaevar. parasitica จะฝังอยู่ในดิน หากมีฝนตกหรือน้ำท่วม เชื้อจะแพร่ระบาดออกมา ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถทราบได้เพราะไม่เห็นตัวตน จะทราบอีกครั้งเมื่อต้นพืชออกอาการแล้ว และมักจะระบาดในพืชหลายชนิดรวมถึงสวนยางพาราด้วย จะระบาดรวดเร็วมากในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกและความชื้นสูง
โรคไฟทอปธอร่า
“โรคนี้น่ากลัวหากมีสภาพอากาศชื้นสูงและน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะหากน้ำท่วมครั้งแรกต้นยางติดเชื้อราไฟทอปธอร่า พอน้ำลด และท่วมอีกคราวนี้จะหนัก จะกินหน้ายางเป็นสีดำ และอาจถึงรากเน่า แล้วต้นยางตายในที่สุด อย่างที่บราซิลที่ต้นยางตายทั้งประเทศเมื่อกว่า 20 ก่อน ก็เป็นเชื้อเดียวกัน เพียงแต่อยู่ในสภาพภูมิอากาศต่างกันเท่านั้น ฉะนั้นจะประมาทไม่ได้” รศ.ดร.อำไพวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคโฟทอปธอร่าที่กำลังระบาดในพื้นที่สวนยางพาราในภาคใต้จะเป็นเชื้อที่อ่อน ไม่ทำลายต้นยางพาราถึงกับตาย แต่จะประมาทไม่ได้ หากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปล่อยเวลาผ่านไปยาวนานเชื้ออาจกลายพันธุ์เป็นชนิดที่รุนแรง นั่นหมายถึงไม่เพียงแต่ชาวสวนยางพาราเท่านั้นที่เดือดร้อน หากแต่จะเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาลอีกด้วย