ข่าว

รุมชำแหละ6ข้อเสนอแก้ไขรธน.คกก.สมานฉันท์ฯ

รุมชำแหละ6ข้อเสนอแก้ไขรธน.คกก.สมานฉันท์ฯ

25 ส.ค. 2552

"นักวิชาการจุฬา"รุมชำแหละ 6 ข้อเสนอแก้ไขรธน.คกก.สมานฉันท์ฯ ระบุทุกข้อเสนอเอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองล้วนๆ แถมยังเลื่อนลอย จอมปลอม ขัดแย้ง และไร้ทิศทาง

 (25 ส.ค.) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “วิพากษ์ 6 ข้อเสนอ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ประชาชนได้อะไร” จัดโดยศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย ร่วมกับภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ศาสตร์ตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง รศ.ตระกูล มีชัย รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ พร้อมด้วย นักศึกษา ประชาชน สื่อมวลชน เข้าร่วม

 ทั้งนี้การสัมมนามาจากการที่กรณีคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นคือ 1. การยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมือง (มาตรา 237) 2.ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(มาตรา 93 ถึงมาตรา 98 ) 3. ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(มาตรา 111 ถึงมาตรา 121) 4.การทำสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของสภา ( มาตรา190 ) 5.การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( มาตรา 265 ) และ 6. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ( มาตรา 266 )

 โดยรศ.ตระกูล กล่าวว่า ส่วนตัวมีข้อสังเกตในประเด็นเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้น หากมองตื้นๆถือว่าเป็นการรักษาสถาบันการเมือง แต่หากมองลึกๆ คือการแก้กฎหมายช่วยตัวเองของนักการเมือง ทั้งที่มาตรา 237 ว่าด้วยเรื่องการยุบพรรคการเมือง ออกมาเพื่อแก้ปัญหาความล้มเหลวของระบบเลือกตั้งที่นักการเมืองไม่เคารพกติกาการเลือกตั้ง ทำให้ ส.ส.ร. 2550 ต้องใช้ยาแรง โดยข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอว่าใครผิดก็ว่าตามผิดนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะความผิดดังกล่าวเป็นความผิดขององค์กร คณะกรรมการสมานฉันท์ฯควรระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วย

 รศ.ตระกูล กล่าวอีกว่า การยุบพรรคการเมืองส่งผลต่อพรรคการเมืองจริงหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่ากระทบแค่ชื่อเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนชื่อพรรคเท่านั้น และส่งผลกระทบต่อตัวผู้นำที่ผูกขาดการเมืองเท่านั้น ถามว่าการที่เสนอให้แก้กฎหมายตรงนี้เพราะกลัวว่านักการเมืองจะโดนกระทบใช่หรือไม่ และที่อ้างว่าการยุบพรรคจะทำให้กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคนั้น ต้องดูด้วยว่าเป็นคำอ้างที่แท้จริงหรือไม่ เพราะเวลานักการเมืองยุบรวมพรรคการเมืองได้ พรรคการเมืองเคยถามสมาชิกที่อ้างว่ามีเป็นล้านคนบ้างหรือไม่

 “ผมเห็นว่าการยุบพรรคการเมืองไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะเป็นเพียงแค่การเตือน คุณอย่าทำนะ เรื่องนี้แน่นอนว่า ใครทำผิดต้องได้รับการลงโทษและต้องมีโทษที่รุนแรง และกรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วย เพราะเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองร่วมกัน ในเมื่อเป็นกรรมการบริหารพรรคที่จะมีตำแหน่งทางการเมืองที่สูงขึ้น หรือแค่อยากมีตำแหน่งติดนามบัตรเอาไว้โชว์เท่านั้น ทั้งนี้หากมีการเสนอว่าไม่ต้องยุบพรรคการเมือง แต่ต้องให้ผู้กระทำผิดและกรรมการบริหารพรรคโดนด้วย และหากนักการเมืองจะเลี่ยงบาลีโดยการหาหุ่นเชิดแบบศรีธนชัยต้องมีการแก้กฎหมายต่อไป และผมอยากให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเน้นเรื่องการสร้างสถาบันการเมืองให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการสร้างสาขาพรรค ไม่ใช่การบริหารพรรคการเมืองแบบรวมศูนย์ในส่วนกลางอย่างเดียวแบบนี้ ” นายตระกูล กล่าว

 ส่วนวิธีการเลือกตั้งและระบบการเลือกตั้ง ที่ให้กลับมาใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 รศ.ตระกูล แสดงความเห็นว่า ข้อเสนอนี้ก็เป็นข้อเสนอเพื่อนักการเมืองเอง การอ้างว่า เขตเล็กจะทำให้นักการเมืองหน้าใหม่นั้น เป็นคำพูดที่ล้าสมัยใช้ไม่ได้ เพราะเขตเลือกตั้งเล็กทำให้เกิดการผูกขาดมีการข่มขู่ชาวบ้าน ส่วนเรื่องระบบบัญชีรายชื่อส่วนตัวไม่เห็นด้วยทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 และ 50 เพราะจำนวน 100 และ 80 ที่นั่งถือว่าน้อยเกินไป ไม่ได้ตอบโจทย์การเมืองไทยที่อยากให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเกิดขึ้นในสภา ดังนั้น ควรมีการคิดระบบการเลือกตั้งใหม่ โดยส่วนตัวขอเสนอให้มีการใช้ระบบเลือกตั้งทั้งแบ่งเขต และสัดส่วนแบบ 250 : 250 แต่นักการเมืองคงไม่ยอมรับ เพราะระบบดังกล่าวไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งได้

 รศ.ตระกูล กล่าวว่า การได้มาซึ่ง ส.ว. ที่เสนอให้มีการใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เอาเข้าจริงๆต้องถามว่า ระบบ 2 สภายังจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะคุณสมบัติที่ระบุว่า ส.ว.ต้องเป็นกลางทางการเมืองถือว่าอุดมคติมาก เพราะหากให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องพึ่งพาเครือข่ายการเมืองแบบไม่เป็นทางการ ดังนั้น การเลือกตั้งลักษณะแบบนี้ไม่มีหลักประกันว่า ส.ว.ปลอดจากการเมือง แน่นอน ต้องมาพิจารณาดูว่าอยากให้ ส.ว.มีหน้าที่อะไร เพราะ ส.ว.คงเป็นกลางไม่ได้ ฉะนั้นขอเสนอว่า ให้ ส.ว.มีการสรรหาจากภาคประชาชน โดยที่ไม่ต้องมีการถอดถอนนักการเมือง แต่ให้มีกลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น

 สำหรับการให้ส.ส.มีตำแหน่งทางการเมืองได้ รศ.ตระกูล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะหากเป็นแบบนี้ อยากถามว่าจะทำหน้าที่ ส.ส.หรือไม่ ถ้าไม่อยากก็ไม่ต้องรับเงินเดือน ส.ส. ส่วนการที่ส.ส.อยากเข้าไปแทรกแซงการทำงานของข้าราชการนั้น ต้องถามว่าอยากช่วยชาวบ้าน หรืออยากเข้าไปแบ่งสรรทรัพยากรกันแน่

 “สถานการณ์การเมืองขณะนี้มันมั่วไปหมด และการปฏิรูปการเมืองคงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะความคิดของคนไทยยังไม่ตกผลึกปัญหาว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ ทางออกของการเมืองไทย คือ การปิดไฟเข้านอนแล้วฝันไปเรื่อยๆ เพราะคนไทยไม่เคยคิดถึงปัญหาที่แท้จริง และการแก้ปัญหาการเมืองไทยคงเกิดขึ้นไม่ได้หากเอาคนที่เป็นปัญหามาแก้ปัญหาเอง” รศ.ตระกูล ระบุ

 ขณะที่ รศ.สิริพรรณ กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯเป็นเรื่อง เลื่อนลอย จอมปลอม ขัดแย้ง และ ไร้ทิศทาง ตนคิดว่าข้อเสนอทั้งหมดนอกจากจะไม่สมานฉันท์แล้ว จะยังเพิ่มความแตกแยกให้สังคมมากขึ้นอีกด้วย เพราะข้อเสนอทั้งหมดมาจากเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งที่ความแตกแยกของสังคมไทยมาจากการเห็นต่างกันระหว่างรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นอกจากนี้ตัวคณะกรรมการฯ ยังเป็นนักการเมืองทั้งสิ้นไม่มีการยึดโยงกับประชาชน อย่างไรก็ตามข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการยุบพรรคถือว่าไม่เลวร้าย เพราะการยุบพรรคเป็นการทำลายสายสัมพันธ์กับประชาชนและพรรคการเมือง ทำให้พัฒนาการของพรรคการเมืองอ่อนแอซึ่งจะทำให้ อำนาจนิติบัญญัติอ่อนแอไปด้วย อย่างไรก็ตามการยุบเลิกพรรคการเมืองไม่ควรมีการสอดแทรกการนิรโทษกรรม

 รศ.สิริพรรณ กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องสำคัญแม้ว่าจะไม่ใช่ยาวิเศษ แต่รัฐธรรมนูญเป็นหลักนิติธรรม และกติกาการเมืองที่จะต้องเป็นธรรมและตรวจสอบได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่จึงทำให้เกิดความไม่สมานฉันท์ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมไม่เอื้อให้พรรคใดพรรคหนึ่ง ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการสร้างความสมานฉันท์ตามลำดับ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาแต่คนไทยต้องฝันกันต่อไป

 ทั้งนี้การที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว รศ.สิริพรรณ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่เลื่อนลอย เพราะหากพิสูจน์ด้วยการวิจัยจะพบว่าระบบนี้ เป็นระบบเอื้อพรรคใหญ่ และผู้สมัครหน้าเก่า ไม่ทราบว่าข้อเสนอที่คณะกรรมการฯตั้งใจจะหลอกประชาชนหรือไม่ รวมถึงเรื่องระบบเรื่องตั้งแบบสัดส่วนทั่วประเทศที่เอื้อต่อพรรคใหญ่มากกว่าพรรคเล็ก และการแบ่งสัดส่วนตามกลุ่มจังหวัดเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ควรแบ่งตามจำนวนประชากร เพราะถือว่าไม่เคารพอาชีพ วัฒนธรรมของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โจทย์การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่จอมปลอม เลื่อนลอย ขัดแย้ง และไร้ทิศทาง

 ด้าน ผศ.ดร.ประภาส กล่าวถึง ข้อเสนอทั้งหมดเป็นการปฏิรูปการเมืองที่แคบมาก มองปัญหาแบบหมาไล่กัดหางตัวเอง วนเวียนมองแต่เรื่องระบบการเลือกตั้ง โดยข้อจำกัด ที่คิดอยู่แต่ว่าทำอย่างไรให้ได้คนดี อัปรีย์ชนหายไป โดยมีแต่การพูดถึงปัญหานักการเมือง แต่ไม่มีการพูดถึงปัญหาประชาชน เพราะข้อเสนอดังกล่าวเป็นการประนีประนอมของชนชั้นนำ โดยเฉพาะนักการเมืองที่พยายามเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาเพื่อให้เอาอำนาจกลับมา หลังจากที่อำนาจหายไปในรัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีการเสนอให้มีการนิรโทษกรรม เป็นวิธีคิดของนักการเมืองที่คับแคบ เมื่อเป็นแบบนี้ประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางสังคมคงไม่หมดไป เพราะไม่มีการพูดถึงการกระจายทรัพยากรให้ประชาชนคนชั้นล่าง อีกทั้งปัจจุบันยังมีการเพิ่มอำนาจให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและท้องที่อย่างมากมาย หากเป็นแบบนี้ประชาธิปไตยในท้องถิ่นคงไม่เกิด เพราะข้อเสนอดังกล่าวเป็นทางออกภายใต้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเท่านั้น ไม่มองเรื่องการปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปสังคมแต่อย่างใด

 ดร.พิชญ์ กล่าวเสริมว่า การตั้งโจทย์เรื่องสมานฉันท์ถือว่าเป็นการตั้งโจทย์ที่ใหญ่มาก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อ เรียกได้ว่าคณะกรรมการชุดนี้เป็นเพียงคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น จากรายงานดังกล่าวเหมือนกับการขี่ช้างจับตั๊กแตน หรือเพียงการตั้งโจทย์ให้ตรงกับคำตอบที่รอให้มีการแก้รัฐไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งคงไม่ได้รับ ความไว้ใจจากสังคม และสะท้อนว่าการปฏิรูปการเมืองแบบนี้มันไม่พอ และไม่ควรริเริ่มจากสภาเท่านั้น

 “ที่สำคัญยังไม่มีการนิยามเรื่องคำว่า “สมานฉันท์” ว่าคืออะไร เพราะการเขียนไว้แบบนี้เป็นภาพความงดงามของสังคมไทย ให้กระทรวงการท่องเที่ยวเขียนก็ได้ เป็นรายงานที่ประนีประนอมกันมาก แต่ถามว่ามีแกนหลักอะไรที่จะเป็นความสมานฉันท์ของสังคมไทย เรื่องแบบนี้มันต้องมีทฤษฎี เพราะอย่างน้อยน่าจะพูดถึงเรื่อง ความยุติธรรม ความสมานฉันท์ตรงนี้เป็นการบีบให้อีกฝ่ายเงียบหรือไม่ หากเป็นแบบนี้ เท่ากับหาแกนสังคมไม่ได้ใช่หรือไม่ สังคมไทยคงไม่มีความสมานฉันท์” ดร.พิชญ์กล่าว

 ดร.พิชญ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหากดูตามข้อเท็จจริงต้องถามว่านักการเมืองเดือดร้อนจริงหรือไม่ เพราะนักการเมืองไทยจะปรับตัวเร็วมาก ทั้งอยู่ในรัฐประหารและไม่รัฐประหาร นักการเมืองสามารถประกอบการทางการเมืองได้ตลอด ส่วนความพยายามในการแก้ปัญหาระบบเลือกตั้ง ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง อยากเสนอให้จับหัวคะแนน แต่เชื่อว่าไม่มีใครกล้า เพราะทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน และรัฐบาลก็ล้วนแต่ต้องเรียกใช้ประโยชน์จากหัวคะแนนทั้งสิ้น อีกทั้งไม่แน่ใจว่าการทำรัฐประหารเป็นธรรมชาติหรือไม่ เหมือนกับว่าสังคมไทยกลับยอมรับการทำรัฐประหาร เพราะรายงานฉบับนี้ไม่มีการแตะคำว่า รัฐประหารเลย