ข่าว

ดัดนิสัยหมาขี้อิจฉา!

ดัดนิสัยหมาขี้อิจฉา!

22 ม.ค. 2560

โดย - ศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร

          หมามีนิสัย “อิจฉา” ได้เช่นเดียวกับคน ทั้งนี้เขาอาจอิจฉาสัตว์ด้วยกันเอง เช่น อิจฉาหมาตัวอื่น หรืออิจฉาสัตว์ชนิดอื่น ที่พบบ่อยๆได้แก่ แมว และนก (แต่ยังไม่เคยได้ยินอิจฉาปลานะครับ) วันนี้เราจะมาคุยถึงหมาขี้อิจฉา

          บางท่านอาจไม่รู้ว่า หมาอิจฉาหมาด้วยกันเขาแสดงอากัปกิริยาออกมาอย่างไร? จะเหมือนแฟนคุณหรือไม่? ลองดูดังนี้

 

ดัดนิสัยหมาขี้อิจฉา!

 

          เมื่อคุณอุ้มลูกหมาตัวใหม่เข้ามาในบ้าน แล้วสุดที่รักตัวเดิมเมินเฉยเดินหายลับไม่มาต้อนรับเคย หรือเมื่อวางลูกหมาลงข้างๆเจ้าตัวเก่ากลับขู่คำรามในลำคอ หรือเรียกแล้วไม่มา นั่งทำหูทวนลม บ้างก็ไม่กินข้าวปลาอาหารเสียนี่ ไอ้ที่เคยขี้เยี่ยวเป็นที่เป็นทางก็ล่อเสียเลอะเทอะไปหมด นั่นคือการอิจฉาหมาด้วยกัน

          บางท่านเห็นหมาที่บ้านเหงาอยากหาเพื่อนให้ จึงไปเอาลูกแมวมาเลี้ยงเนื่องจากเคยเห็นเขาเลี้ยงหมากับแมวด้วยกันได้ ผลคือ เจ้าแสนรักทำปั้นปึ่ง เหมือนกับไม่มีลูกแมวตัวนั้นอยู่ในโลก ไม่เล่นด้วย ไม่ทักทาย หรือสำรวจตรวจดม บางตัวอาจแสดงพฤติกรรมการทำลาย กัด แทะเฟอร์นิเจอร์ รองเท้า เมื่อเจ้าของไม่อยู่ ฯลฯ นั่นคืออาการอิจฉาลูกแมว

           ส่วนกรณีอิจฉานกบ้าง บางท่านไม่เชื่อแต่มีจริงๆครับ ยิ่งถ้าเป็นนกโตช่างพูดเหมือนนกขุนทองแล้วละก็ เมื่อคุณได้มาใหม่ๆจะประคบประหงม ให้ข้าวให้น้ำ พูดคุยเล่นด้วยจนคุณลืมเจ้าตูบเพื่อนยาก หากสังเกตคุณอาจพบว่าเจ้าตูบกำลังจ้องมองนกตาเขม็งในท่าพร้อมลุย เพียงแต่ไม่ลงมือเท่านั้นแหละ

           แต่เมื่อวันหนึ่งคุณกลับมาบ้าน อาจพบว่าขนนกกระจายทั้งห้อง หรือเจ้านกปากดีอยู่ในปากเจ้าตูบเสียแล้ว! นี่แหละครับความที่เขาเข้าใจว่าคุณปันใจไปเอาแต่ดูแลเจ้าวิหกน้อยนั่นเอง ด้วยพื้นฐานการอิจฉาเหล่านี้มาจากพฤติกรรมการหวงพื้นที่ และการจัดลำดับขั้นในสังคมของบ้านที่เจ้าตูบถูกกระทบกระเทือนด้วย สมาชิกใหม่เหล่านี้เท่ากับเป็นศัตรูผู้รุกราน บวกกับการหวงตำแหน่งกลัวว่าจะตกอันดับจากความรักของผู้เป็นนายลงไป จึงต้องออกลายรักษาสถานะและเรียกร้องความสำคัญของตนไว้ เช่น การอึ ฉี่ หรือทำลายข้าวของ ฯลฯ

 

ดัดนิสัยหมาขี้อิจฉา!

             ทางป้องกันแก้ไขทำได้โดย :-

          - สัตว์เลี้ยงตัวใหม่ไม่ว่าจะเป็นตัวอะไรต้องกักขังแยกไว้ในที่จำเพาะไม่ให้ออกมาวุ่นวายในพื้นที่ของเจ้าตูบเดิม เพื่อมิให้เป็นการทำให้เจ้าตูบรู้สึกถูกบุกรุกพื้นที่ จากนั้นค่อยๆให้ได้ออกมาพบปะกันทีละน้อยภายใต้การควบคุมในสายตาอย่างใกล้ชิดของคุณ

          - อย่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงตัวใหม่ไปรบกวนตัวเดิม เช่น ลูกหมามักชอบแหย่หมาแก่ด้วยการไล่งับหาง งับหูบ้าง ทำให้หมาตัวเดิมรำคาญ ไม่ชอบเพราะถูกรบกวนความสงบส่วนตัว

          - ปฏิบัติต่อหมาตัวเดิมของคุณเป็นหนึ่งเสมอ อย่าทำอะไรให้กับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ก่อน เช่น ให้ข้าว ให้น้ำแก่ตัวเดิมก่อน ฯลฯ

          - หากหมาของคุณแสดงอาการอึ ฉี่ เรี่ยราดเมื่อคุณไม่อยู่ให้กักบริเวณไว้เป็นการป้องกันมิให้แสดงพฤติกรรมเช่นนั้นอีก

          - ถ้าหมาตัวเดิมของคุณยังมิได้ตอนหรือทำหมัน ก็ให้จัดการเสีย เช่นเดียวกับลูกหมาที่มาใหม่ มันจะลดความหวงพื้นที่และอิจฉาลง

            คุณคงมีหมาขี้อิจฉาที่นิสัยดีขึ้นนะครับ!