
"วิรัช ชินวินิจกุลลอยลำนั่งเก้าอี้เลขาธิการศาลยุติธรรม
"วิรัช ชินวินิจกุล อดีตเลขาศาลฎีกา ยุควิกฤตการเมืองทักษิณ ปี 48 ลอยลำนั่งเก้าอี้เลขาธิการศาลยุติธรรม หลังที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม มติ 14 ต่อ 1 เห็นชอบตามที่ประธานศาลฎีกาเสนอชื่อ
ที่ห้องประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ( ก.ต.) นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานประชุม ก.ต. ครั้งที่ 13/2552 พิจารณาวาระโยกย้ายข้าราชการตุลาการ โดยมีตำแหน่งที่สำคัญ คือ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งปัจจุบัน นายพินิจ สุเสารัจ ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และกำลังจะพ้นตำแหน่งในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยการประชุม นายวิรัช ประธานศาลฎีกา เสนอชื่อ นายวิรัช ชินวินิจกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่ง ก.ต. มีมติเห็นชอบให้นายวิรัช ชินวินิจกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมคนใหม่ ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่การแต่งตั้งดังกล่าว ในที่ประชุม ไม่มีการเสนอชื่อผู้พิพากษาอื่นร่วมแข่งขันกับนายวิรัช แต่อย่างใด โดยที่ประชุม ก.ต. จำนวน 15 คน ได้ลงมติ 14 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบนายวิรัช ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มีวาระดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระหรือไม่เกิน 4 ปี
สำหรับประวัติ นายวิรัช นั้น เป็นคนจังหวัดราชบุรี เกิดวันที่ 7 พ.ย.2495 อายุ 57 ปี จบการศึกษานิติศาสตร์เกียรตินิยม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย โดยประวัติการทำงานนั้นนายวิรัช หลังจากเข้ามาเป็นผู้ช่วยพิพากษาเมื่อปี 2523 แล้ว มีความเจริญหน้าที่ในสายงานเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต ศาลแขวงธนบุรี เมื่อปี 2524 - 32 และเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ปี 2533 – 37 กระทั่งได้เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และก้าวสู่ตำแหน่งบริหาร เข้ามาเป็นรองอธิบดีศาลภาค 9 ( ภาคใต้ ) ปี 2541 ก่อนจะได้รับเลือกเป็นเลขานุการศาลฎีกาปี 2548 ในยุคนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี เป็นประธานศาลฎีกา
โดยขณะนั้นเกิดวิกฤติทางการเมืองที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่ เนื่องจากใช้อำนาจฝ่ายบริหารแทรกแซงองค์กรอิสระเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มีพระราชดำรัส ต่อคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ร่วมกับศาลยุติธรรม และศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมเพื่อหาทางออกวิกฤติเกี่ยวกับการพิจารณาคดีตามกรอบอำนาจทางกฎหมาย
โดยครั้งที่มีการพิจารณาคดีซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการจัดการเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 นั้น นายวิรัช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขานุการศาลฎีกา ตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มคนเสื้อแดงว่ามีสายสัมพันธ์กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และมีการโยงเกี่ยวกับการตัดสินคดีของศาลโดยกลุ่มเสื้อแดงอ้างว่า จากการดักฟังโทรศัพท์ ได้ยินคำพูดที่นายวิรัช สนทนากับ พล.ต.ต.พีระพันธุ์ เปรมภูติ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ง. เกี่ยวกับคดี
โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ได้รับเครื่องราชอิสรยาภรณ์ ประกอบด้วย มหาวชิรมงกุฏ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญจักรพรรดิมาลา ปี 2540 และ 2544 ตามลำดับ ขณะที่ปัจจุบัน ยังเป็นคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ( กบศ.) ชั้นฎีกา ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าด้วย นอกจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว ที่ประชุม ก.ต. ยังพิจารณาสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้พิพากษา ตำแหน่งอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย น.ส.เพลินจิต ตั้งพูนสกุล ประธานศาลอุทธรณ์ภาค9 เป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค2 , นายสุรศักดิ์ คิรีวิเชียร อธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 , นายชูเกียรติ ตันทวีวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 , นายเอกชัย ชินณ์พงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค8 และนายพินิจ สายสะอาด เป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป
ขณะที่ ก.ต. จะประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาระดับรองประธานศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาอื่นๆรวม 200 ตำแหน่ง ในวันที่ 1 ก.ย.นี้