
เคาะ"สวัสดิการ"ช่วยชาวยางใต้ น้ำท่วมหนัก! กว่า5แสนไร่!
โดย - โต๊ะข่าวเกษตร
คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย อนุมัติร่างระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49 (5) พ.ศ. .... ประกาศใช้ทันที เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 หลังพบพื้นภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในสวนยางพาราได้รับความเสียหายอย่่างหนัก พร้อมแนะเกษตรกรชาวสวนยางฟื้นฟูสวนยางหลังน้ำลดอย่างถูกวิธี
ธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ด้านธุรกิจและปฏิบัติการเผยว่า คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ ใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49 (5) ของ พ.ร.บ. กยท. เพื่อเร่งให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2560 แก่เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับทาง กยท. อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรที่สวนยางประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทันที ซึ่งในร่างระเบียบดังกล่าว จะให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกรณีสวนยางประสบภัย ในอัตรารายละไม่เกิน 3,000 บาท นอกจากนี้ ยังจัดสรรสวัสดิการอื่นๆ แก่พี่น้องชาวสวนยาง อาทิ เงินให้แก่ทายาทของเกษตรกรชาวสวนยางกรณีเกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต และเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร่างระเบียบนี้จะเป็นการนำร่องประกาศใช้ และสามารถปรับเปลี่ยนการจัดสรรสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องตามสถานการณ์ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรตามกำหนดได้ในอนาคต
นายธีรวัฒน์ย้ำด้วยว่า ล่าสุดในพื้นที่ภาคใต้ประสบปัญหาฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้สวนยางพาราของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบและสวนยางพารามีน้ำท่วมขัง ในเบื้องต้น กยท. ได้รุดลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมผู้นำเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และหน่วยงานปกครองในจังหวัด มอบถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรจากการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้
โดยผลการสำรวจ พบว่า มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อน จากอุทกภัยครั้งนี้ จำนวน 60,338 ราย และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด ประมาณ 531,876 ไร่ แบ่งเป็น จ.นครศรีธรรมราช 41,932 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 416,133 ไร่ จ.พัทลุง 17,331 ราย มีพื้นที่ความเสียหาย 105,944 ไร่ จ.ตรัง 700 ราย มีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 7,250 ไร่ จ.สงขลา 353 ราย มีพื้นที่ความเสียหาย 2,396 ไร่ และ จ.นราธิวาส จำนวน 22 ราย มีพื้นที่ความเสียหาย 153 ไร่ อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ของ กยท. เข้าไปประเมินความเสียหายของพื้นที่สวนยางที่ถูกน้ำท่วม พร้อมทั้งให้คำแนะนำดูแลสวนยางที่ถูกน้ำท่วมขัง เพื่อฟื้นฟูสวนยางอย่างถูกวิธี
“การดูแลสวนยางอย่างถูกวิธีหลังถูกน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรดำเนินการเร่งขุดร่องระบายน้ำ บริเวณกึ่งกลางระหว่างแถวยาง ออกจากสวนยางโดยเร็ว และควรใช้แรงงานคน หรือเครื่องจักรขนาดเล็กเท่านั้น ไม่ควรใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ขุดร่องน้ำ เพราะจะทำให้โครงสร้างของดินยังไม่แน่นพอเสียหาย อาจทำลายรากยางโดยตรง และควรงดใส่ปุ๋ยทุกชนิดในขณะที่ดินยังไม่แห้ง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะความเป็นพิษต่อต้นยาง เนื่องจากส่วนของรากขาดออกซิเจน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมต้นยางที่ทรุดโทรม รวมทั้งยังทำให้ต้นยางฟื้นตัวช้า อาจทำให้ต้นยางอ่อนแอกระทั่งถึงตายได้ ดังนั้น เกษตรกรควรรอให้ต้นยางฟื้นตัวและแข็งแรงดีเสียก่อน อย่างน้อย 30 วัน จึงทำการใส่ปุ๋ย”รองผู้ว่า กยท.กล่าวย้ำ