
ตรวจแผนบำรุงรักษา โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง
"จักกพันธุ์" ตรวจแผนบำรุงรักษา โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง หลังเปิดใช้งานมา 12 ปี บำบัดน้ำเสียได้ 3.5 แสนลบ.ม./วัน
27 ธ.ค.59 - นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงพื้นที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง เพื่อติดตามโครงการจ้างเดินระบบ บำรุงรักษา และบริหารจัดการโรงควบคุมคุณภาพน้ำ ดินแดง ระยะที่ 3 โดยมีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ให้การต้อนรับและรายงานความก้าวหน้าโครงการ
นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง เป็น 1 ใน 8 โรงควบคุมคุณภาพน้ำของกทม. ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับศาลาว่าการ กทม. 2 บนถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง เป็นโรงควบคุมคุณภาพที่มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้มากถึง 350,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวัน ซึ่งสูงสุดของกทม.ในจำนวน 8 โรงที่มีระบบการบำบัดในขณะนี้ โดยใช้ระบบ Biological Activated Sludge Process With Nutrients (Phosphorus & Nitrogen) Removal มีความยาวท่อรวบรวมน้ำเสียรวมประมาณ 63 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตดินแดง ปทุมวัน และบางส่วนของเขตพญาไท ดุสิต ราชเทวี ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ และเขตพระนคร รวมพื้นที่ประมาณ 37 ตารางกิโลเมตร โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะปล่อยลงสู่บึงมักกะสันหรือคลองสามเสน เพื่อช่วยปรับสภาพน้ำให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น และนำไปจ่ายลงบริเวณคูน้ำโดยรอบศาลาว่าการกทม.2 สวนป่าวิภาวดีรังสิต สนามกีฬา (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี รวมถึงการใช้ภายในโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงเอง และแจกจ่ายให้แก่รถบรรทุกน้ำของสำนักงานเขตเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรม รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด และใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ
นายจักกพันธุ์ กล่าวด้วยว่า โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2536 ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 7,897 ล้านบาท เริ่มเดินระบบในปี 2547 โดยปัจจุบันได้จ้างเอกชนทำการเดินระบบ บำรุงรักษา และบริหารจัดการโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงระยะที่ 3 เริ่มสัญญาตั้งแต่ 1 เม.ย.2559 ถึง 31 มี.ค.2564 รวมระยะเวลา 5 ปี ขณะนี้ความคืบหน้าโครงการที่ทำได้ 13.36 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม กทม.ได้พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ 8 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่รวม 212.74 ตารางกิโลเมตร จำนวน 21 เขต ได้แก่ เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก บางคอแหลม ยานนาวา ดินแดง ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน บางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง หนองแขม บางแค ภาษีเจริญ ดุสิต ทุ่งครุ จอมทอง และเขตราษฎร์บูรณะ มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียรวมทั้งสิ้น 1,112,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำใช้รวมในกรุงเทพฯ.