
เรียนรู้สู้เห็บ
โดย - ศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร
เรื่องของ “เห็บหมา” เป็นอีกเรื่องที่ผมได้รับคำถามและรับฟังมาบ่อยครั้งจากบรรดาคนรักสุนัข และเคยตอบไปแล้วในคอลัมน์นี้เช่นเดียวกัน แต่คงมีหลายท่านที่พลาดการติดตามไป ฉบับนี้จึงขอตอบให้รับทราบกันอีกครั้ง โดยเฉพาะเห็บหมาในสุนัขสายพันธุ์ต่างประเทศ อย่างท่านหนึ่งเป็นสุภาพสตรีใช้ชื่อว่า คนรักสุนัข เล่าเรื่องราวมาว่า
มีสุนัขในความดูแลอยู่ 3 ตัว ตัวที่มีปัญหาอย่างมากคือพันธุ์อเมริกัน-คอกเกอร์ อายุ 1 ปี 6 เดือน เพศผู้ คือมีเห็บมาก ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม สารพัดยาที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นฟรอนท์ไลน์ แบบหยด ซึ่งราคาแพงมาก เพราะสุนัขหนักประมาณ 16 กิโลกรัม หรือจะเป็นยาฉีดที่ต้องไปฉีดทุกๆ เดือน ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งก็หลายสตางค์ ทั้งค่ารถ ค่ายา แต่ไม่ได้ผลเลย อยากรบกวนสอบถามว่าการที่มีเห็บมากรักษาไม่หายน่าจะมาจากสาเหตุอื่นๆหรือว่าเกี่ยวกับโรคอะไร และแนวทางการรักษา ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่
ขอตอบเผื่อสำหรับเจ้าของน้องหมาที่มีปัญหาเดียวกันครับ!
“เห็บ” เป็นแขกผู้ไม่พึงประสงค์ที่จะมาเยือนคนรักหมา หรือเจ้าของหมาแทบจะทุกคน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเนื่องจากฤดูนี้เป็นฤดูที่เห็บขยายพันธุ์ได้ดี และตัวอ่อนก็จะเริ่มควานหาเหยื่อที่ลงมาเดินตามสนามหญ้า ซึ่งบางครั้งเจ้าเห็บตัวอ่อนก็จะเดินทางไต่ไปหาเหยื่อเองโดยใช้ความร้อนและสิ่งที่ขับออกมาจากผิวหนังของหมาเป็นตัวดึงดูดนำทาง
การที่จะทำให้เห็บหมดไปจากตัวหมานั้นดูจะเป็นสิ่งที่ยากมากและหลายๆ ท่านก็พบปัญหาเช่นเดียวกับคุณคนรักหมา คือ “กำจัดไม่หมด” ไหนจะใช้ยากำจัดเห็บทุกชนิดที่โฆษณากันก็แล้ว อะไรดีที่สุดก็ถูกนำมาใช้ แต่เห็บหาหมดไปไม่ !
ทำไมเห็บไม่หมด? เนื่องมาจาก :-
1.ยาหรือสารเคมีไม่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเห็บเหล่านั้นได้จริงตามคำคุย คำโฆษณา
2.เห็บดื้อต่อยาหรือสารเคมีเหล่านั้น เนื่องจากว่าใช้มาเป็นระยะเวลานานจนเห็บพัฒนาความต้านทานต่อสารนั้นๆ ขึ้น
3.ผู้ใช้ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาหรือสารกำจัดเห็บนั้นๆ เช่น เขาให้เจือจางด้วยน้ำในอัตราส่วนต่างๆ แต่ก็ไม่ทำตาม ยาจึงจางไปบ้าง หรือบางอย่างอาบแล้วต้องทิ้งไม่ให้ล้างออก แต่ก็ไปล้างออกหมด ฯลฯ การฆ่าเห็บจึงไม่ได้ผล
4.สิ่งแวดล้อมเป็นใจ ได้แก่ บริเวณรอบข้างมีหมาทั้งที่เลี้ยงและจรจัดไปมาหาสู่โดยมีเห็บอยู่ แม้ว่าหมาบ้านเราจะปลอดเห็บ แต่เห็บก็จะมาจากหมาดังกล่าว โดยลงสู่ดินแล้วไต่หรือเดินตามพื้นมายังบ้านเรา และขึ้นบนตัวหมาของเราในที่สุด
5.เจ้าของบางรายไม่ใส่ใจ ไม่เคยตรวจดู ลูบคลำ ทำความสะอาด อาบน้ำ แปรงขน แก่หมาของตน ร้อยวันพันปีจะเล่นหรือจับเนื้อต้องตัวเขาเสียที เมื่อนั้นก็จะรู้ว่ามีเห็บเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก หรือบางรายหนักกว่านั้นเมื่อหมาของตนล้มป่วยเนื่องจากโรคพยาธิในเม็ดเลือดซึ่งมีเห็บเป็นพาหะจึงเห็นกับตาว่าเห็บเต็มตัว ฯลฯ
แนวทางการต่อสู้กับเห็บ ทำได้โดย :
1.เลือกใช้ยากำจัดเห็บที่น่าเชื่อถือและทำมาเพื่อวัตถุประสงค์การฆ่าเห็บโดยจำเพาะ ซึ่งมีทั้งแบบละลายน้ำอาบ แบบผงโรยตัว ปลอกคอ หรือยาราดหลัง ฯลฯ
2.ควรเปลี่ยนชนิดของยากำจัดเห็บที่ใช้เป็นระยะๆ เช่น ทุก 4 ถึง 5 เดือน เพื่อป้องกันมิให้เห็บเหล่านั้นพัฒนาการดื้อยาได้ทัน
3.อ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาหรือสารเคมีเมื่อฆ่าเห็บเหล่านั้นอย่างถี่ถ้วน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อีกทั้งต้องคอยตรวจสอบว่าผู้รับคำสั่งได้กระทำตามที่บอกหรือไม่อีกด้วย
.................