
"ช้าง"ทุ่ม850ล้านเทคโอเวอร์“อมรินทร์”
ทายาทกลุ่ม “ช้าง” ทุ่มเงิน 850 ล้านบาท ซื้อ “อมรินทร์” ถือหุ้นใหญ่ 47.62% ผู้บริหารแจงแบกภาวะขาดทุนไม่ไหว ตัดสินใจเพิ่มทุน มั่นใจพันธมิตรใหม่แข็งแกร่ง
หลังจากการดำเนินงานประสบปัญหาผลประกอบการขาดทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจโรงพิมพ์ งานแฟร์ สำนักพิมพ์หนังสือเล่ม รวมทั้งทีวีดิจิทัลช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี 34 ตัดสินใจเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี ทายาทธุรกิจกลุ่ม “ช้าง” เพื่อนำเงินมาลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจ
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2559 จัดประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทจำนวน 135 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 220 ล้านบาท เป็นจำนวน 219,999,865 บาท โดยการตัดหุ้นสามัญที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ออกจำหน่าย 135 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 200 ล้านบาท เป็นจำนวน 419,999,865 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายให้แก่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นมูลค่า 850 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น 47.62% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานต่อเนื่องจนกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 ของบริษัทมีอัตราที่สูงเท่ากับ 4.32 เท่า จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนที่จะได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่อยู่ในช่วงการเริ่มต้นธุรกิจ และมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง โดยจะใช้สำหรับการชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล การชำระค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลรายเดือน การชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในดำเนินธุรกิจ เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีแผนการใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนนี้ภายในต้นปี 2561 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินการต่างๆ ได้ตามที่กล่าวข้างต้น
นอกจากนี้ จากการที่ในปัจจุบันภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจทีวีดิจิทัลมีการแข่งขันสูง บริษัทจึงเห็นว่าการมีพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ที่มีความพร้อมในด้านเงินทุนและมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีสถานะทางการเงินและสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายจะทำให้บริษัทได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ และยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจได้
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทให้แก่บุคคลในวงจำกัด โดยกำหนดราคาเสนอขายที่มีส่วนลดเกินกว่า 10% ของราคาตลาดการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ให้แก่ผู้ซื้อ โดยกำหนดราคาหุ้นที่มีส่วนลด 43.11% ซึ่งจะต้องได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้น และจะต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อน
รวมทั้งมีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Whitewash) ในการนี้ผู้ซื้อจะส่งบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทจำนวนไม่เกิน 3 คน และไม่มีแผนที่จะเพิกถอนหุ้นของกิจการออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทั้งยังไม่มีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงแผนการบริหารจัดการ โครงสร้างองค์กร และโครงสร้างทางการเงินของกิจการอย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ของบริษัทว่า การแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลง และธุรกิจดิจิทัลทีวีแข่งขันสูง ทำให้บริษัทต้องลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้ดำเนินกลยุทธ์ออมนิ มีเดีย (Omni-media) ด้วยการเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นด้วยแต่ละธุรกิจมีความเกี่ยวเนื่องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในส่วนธุรกิจทีวีดิจิทัล ช่องอมรินทร์ทีวี HD34 ก็เติบโตในแง่เรตติ้งอย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจ ติด 1 ใน 10 ของผู้ประกอบการทั้งหมด
“เมื่อได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุนจากคุณฐาปนและคุณปณต สิริวัฒนภักดี ซึ่งทั้งสองท่านมีประสบการณ์ในธุรกิจที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ จะทำให้องค์กรของเรามีความแข็งแกร่ง และมีศักยภาพในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจที่โดดเด่นยิ่งขึ้น” นางระริน กล่าว
นางระรินกล่าวย้ำว่า ภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติรายการเพิ่มทุนจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว ผู้ลงทุนใหม่จะยังคงสนับสนุนทีมงานเดิมเป็นผู้บริหารและขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป เนื่องจากมีความเข้าใจและความเชี่ยวชาญในธุรกิจอยู่แล้ว และจะช่วยส่งผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการ เพื่อเสริมทัพให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเตรียมพร้อมรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
ปัจจุบันบริษัทอมรินทร์ฯ มีทุนจดทะเบียน 220 ล้านบาท แบ่งเป็น 220 ล้านหุ้น โดยในการทำรายการครั้งนี้จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 420 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 200 ล้านหุ้น เพื่อจัดสรรให้แก่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ซึ่งจะทำให้อมรินทร์ฯ ได้รับเงินเพิ่มทุนใหม่สำหรับต่อยอดทางธุรกิจประมาณ 850 ล้านบาท โดยนางระรินจะยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และจะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติอนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าวในช่วงต้นปี 2560