ข่าว

อุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อคืบหน้าคาดเปิดใช้ฤดูฝนหน้า

อุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อคืบหน้าคาดเปิดใช้ฤดูฝนหน้า

10 พ.ย. 2559

กทม.ตรวจอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ สร้างคืบหน้าแล้ว 80 % คาดเปิดทันใช้รับฤดูฝนหน้า เปิดทางแก้น้ำท่วม 6 เขตชั้นใน

          10 พ.ย. -- นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ รายงานความก้าวหน้าของโครงการ ที่สถานที่ก่อสร้างอาคารระบายน้ำเข้าอุโมงค์บริเวณถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร

           นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย เพื่อแก้ไขปัญหาและเร่งระบายน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกหนัก ครอบคลุมพื้นที่ 6 เขต รวมประมาณ 56 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ เขตดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และเขตห้วยขวาง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังถนนสายสำคัญและจุดอ่อนน้ำท่วมขัง 14 จุด ในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ ถนนพหลโยธิน ช่วงจากสี่แยกสะพานควายถึงห้าแยกลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงจากสี่แยกสุทธิสารถึงห้าแยกลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษก ช่วงจากสี่แยกรัชโยธินถึงคลองบางซื่อ ถนนลาดพร้าว ช่วงจากสี่แยกรัชดาลาดพร้าวถึงคลองบางซื่อ ถนนกําแพงเพชร ช่วงจากใต้ทางด่วนศรีรัชถึงตลาดนัดสวนจตุจักร  ถนนสามเสน ช่วงจากคลองบางกระบือถึงสี่แยกเกียกกาย เป็นต้น 

             นายจักกพันธุ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองบางซื่อบริเวณคอขวดช่วงถนนพหลโยธิน ถึงถนนวิภาวดีรังสิต นอกจากนี้ยังช่วยรองรับปริมาณน้ำฝนที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักรประมาณวันละ 300,000 ลูกบาศก์เมตรต่อ(ลบ.ม.) อีกด้วย ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ มีสถานีสูบน้ำตั้งอยู่ตอนปลายของอุโมงค์แนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณเกียกกาย โดยมีกําลังสูบขนาด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ระยะทางยาว 6.4 กิโลเมตร มีอาคารรับน้ำ 3 แห่ง 1.บริเวณถนนรัชดาภิเษก 2.ถนนวิภาวดี และ3.ถนนกำแพงเพชร พร้อมกับมีอาคารสํานักงานจํานวน 1 แห่ง ขณะนี้การก่อสร้างดําเนินการไปแล้วร้อยละ 79.82 ถือว่ามีเนื้องานมากกว่าแผนการดำเนินงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือน เม.ย.2560 และจะสามารถเปิดใช้งานได้ทันในฤดูฝนปีหน้า

            “ระบบการระบายน้ำในกรุงเทพมหานครต้องมีหลายอย่างประกอบกัน อาทิ ระบบท่อระบายน้ำ การจัดแหล่งชะลอน้ำหรือแก้มลิง รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนที่บุกรุกคลองเพื่อสร้างเขื่อนให้น้ำสามารถระบายได้ดีขึ้น ทุกระบบต้องมีการประสานงานกัน การที่อุโมงค์ระบายน้ำสร้างเสร็จแล้วน้ำจะไม่ท่วมเลย คงเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถยืนยันได้ว่าหากอุโมงค์ก่อสร้างเสร็จ การระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯจะทำได้เร็วยิ่งขึ้น”นายจักกพันธุ์ กล่าว