จีนวิจัยป้องน้ำเซาะฝั่ง-ลดตะกอนในแม่น้ำสำเร็จ
โดย - สุรัตน์ อัตตะ
สารพัดปัญหาที่มีผลกระทบต่อแม่น้ำและชายฝั่งทะเล ไม่ว่าะเป็นการเพิ่มขึ้นตะกอนปากแม่น้ำ การกัดเซาะตลิ่งที่มีผลมาจากเส้นทางน้ำที่คดเคี้ยยว หรือแม้กระทั่งปัญหาจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทำให้ประเทศมีความหลากหลายทางพื้นที่สภาพภูมิประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนพยายามหาทางป้องกันและแก้ปัญาดังกล่าว ผ่านสถาบันวิจัยและวิศวกรรมการคมนาคมทางน้ำเมืองเทียนจิน หรือ Tianjin Research Institute For Water Transport Engineering, M.O.T. (TIWTE) ปัจจุบันสถาบันแห่งนี้ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลจีนและหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศเท่านั้น ยังมีโครงการวิจัยร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่่วโลก จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
ดร.จาง หัว ชิง ประธานสถาบันวิจัยและวิศวกรรมการคมนาคมทางน้ำเมืองเทียนจิน เปิดเผยว่า สถาบันทีไอดับเบิลยูทีอี เป็นสถาบันเดียวและสถาบันแรกของจีนที่มีเทคโนโลยีงานวิจัยการคมนาคมทางน้ำและแบบทดลองการชลประทานที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน และยังคงเดินหน้าทดลองวิจัยงานชลประทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของสถาบันที่ต้องการศึกษาวิจัยองค์ความรู้การคมนาคมทางน้ำและการชลประทาน รวมไปถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการคมนาคมมหาสมุทรในทุกมิติ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันไม่เพียงเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลจีนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศเท่านั้น ยังมีโครงการวิจัยร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย
“ที่ผ่านมาเรามีโครงการวิจัยร่วมกับประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อย่างเอเชียก็มีญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน อย่างมาเลเซียมีการวิจัยร่วมกันในหลายโครงการ รวมไปถึงอินโดนีเซียมีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญกันสม่ำเสมอทั้งสองประเทศ ที่นี่เรามีการวิจัยจำลองการทำคลื่นสูงถึง 3.5 เมตรเท่าของจริง เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากน้ำและคลื่น และสามารถใช้งานได้จริงๆ แต่ก่อนการวิจัยมีขนาดเล็กไม่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ เมื่อมีการทำโมเดลขนาดใหญ่เท่าของจริง สร้างคลื่นขนาดใหญ่ขึ้นมาแล้วสิ่งต่างๆ ที่ป้องกันจะทำยังไงและผลกระทบจากคลื่นขนาดใหญ่เราจะป้องกันยังไงก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้”
ประธานสถาบันทีไอดับเบิลยูทีอี ยอมรับว่า สำหรับประเทศไทยมีการร่วมมือกันบ้าง โดยผ่านกระทรวงคมนาคมของไทย แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเหล่านี้มีมากกว่า ที่จริงสถาบันมีความสนใจประเทศไทยอย่างสูง มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางน้ำของประเทศไทยจบการศึกษาจากสถาบันที่เมืองจีนด้วย ดังนั้นการมาเยี่ยมของไทยถือเป็นโอกาสดีอย่างมากที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจขอบข่ายการทำงานร่วมกันในอนาคต ทั้งการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและบุคลากร
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวระหว่างเยี่ยมชมกิจกรรมของสถาบันทีไอดับเบิลยูทีอี ที่เมืองเทียนจิน ว่า ขณะนี้เทคโนโลยีการวิจัยในการแก้ปัญหาดังกล่าวกำลังเป็นที่ต้องการของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันสถาบันทีไอดับเบิลยูทีอี หน่วยงานวิจัยทางน้ำของจีน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก น่าจะมีเทคโนโลยีการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในประเทศไทยหากมีการร่วมมือกันในอนาคตได้
“ที่มาวันนี้ เพื่อมาดูการพัฒนา ในอนาคตจะต้องพึ่งวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่ามีปัจจัยต่างๆ ภายในเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการศึกษาและตอบข้อเท็จจริงให้ได้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เราคิดขณะนี้คือเราอยากหาคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงมั่นใจว่าสถาบันแห่งนี้น่าจะตอบโจทย์เหล่าได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นของในแม่น้ำ ปากแม่น้ำ ที่เกี่ยวข้องกับตะกอนหรือการกัดเซาะและผลกระทบจากอาคารต่างๆ รวมทั้งเรื่องการขุดลอกแม่น้ำลำคลองที่ีมีผลกระทบต่อการไหลของน้ำ ซึ่งกรมชลประทานรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้อยู่”
เมืองเทียนสิน ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจีนห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร ถือเป็นเมืองท่าสำคัญของประเทศที่มีความเก่าแก่ที่สุด ปัจจุบันถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดอีกเมืองหนึ่งของจีน
..............................................................................