
มาด้วยใจรัก ประชาชนรอถวายสักการะพระบรมศพเนืองแน่น
บรรยากาศวันที่ 10 ในการเปิดให้ประชาชนกราบถวายสักการะพระบรมศพ พสกนิกรเดินทางมาด้วยใจภักดีไม่ขาดสาย
เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 7 พ.ย. 2559 ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินเป็นวันที่ยี่สิบห้า ร.อ.ม.จ.นวพรรษ์ ยุคล ทรงเป็นประธานบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย หน้าพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช ทรงกราบหน้าพระโกศพระบรมศพ หลังจากนั้นทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นถวายภัตตาหารเช้าแด่พระพิธีธรรม 8 รูป จากวัดราชสิทธารามราชวรวิหาร และวัดอนงคารามวรวิหาร ที่สวดพระอภิธรรมมาตั้งแต่ค่ำวันที่ 6 พ.ย.2559
โดยบรรยากาศการเดินเข้ามาถวายสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ มีประชาชนเข้าคิวรอแน่นตั้งแต่ช่วงเช้า ทางสำนักพระราชวังได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปด้านในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตั้งแต่เวลา 05.00 น. อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย หลายคนหลายคณะมารอตั้งแต่ช่วงตี 3 อย่างไม่ย้อท้อ ต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เฝ้ารอเข้ากราบสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 สักครั้งหนึ่งในชีวิต
นายวิราช ทาคำมา อายุ 53 ปี ชาวอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ได้ร่วมกลุ่มกับชาวบ้านอำเภอเดียวกัน จ้างรถบัสโดยสารเดินทางมาเป็นหมู่คณะถึง 6 คัน ออกเดินทางจากบ้านตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.มาถึงท้องสนามหลวงก่อนฟ้าสางวันนี้ ถือภาพพระบรมโกศพระบรมศพซึ่งจะนำกลับไปบูชา เผยความรู้สึกภายหลังสักการะพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทว่า รู้สึกตื่นตันใจจนพูดไม่ออกที่ครั้งหนึ่งจะได้มาเห็นและมาถวายสักการะเป็นครั้งสุดท้าย
“ชีวิตผมเคยเฝ้าฯ รับเสด็จพระองค์ท่านเมื่อเสด็จฯ ยังหมู่บ้านผาหมีเมื่อหลายปีก่อน แม้ได้ชื่นชมพระบารมีอยู่ไกลๆ แต่ปลื้มปิติมาก ผมน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นปรัชญาที่ใช้ได้จริง นอกจากผมมีอาชีพรับจ้างทั่วไปแล้ว เวลาว่างยังปลูกข้าว ผักสวนครัวและขุดบ่อเลี้ยงปลานิล ปลาหมอเทศ ไว้กินและขาย” นายวิราชกล่าว
นางสาคร ศิริชนะ อายุ 42 ปี ชาวอำเภอกัณฑารักษ์ จ.ศรีสะเกษ เดินทางมากับกลุ่มกองศีรษะอโศก กองทัพธรรมจำนวน 30 คน เล่าด้วยความรู้สึกตื้นตันใจหลังจากขึ้นไปถวายสักการะพระบรมศพบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทว่า เมื่อตนเองและคณะเดินทางมาร่วมทำกิจกรรมหลังออกพรรษาในงานมหาปวารนาที่จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปีเสร็จเรียบร้อยก็ตั้งใจพากันมาถวายสักการะพระบรมศพ ถึงแม้ว่าจะต้องออกเดินทางจากจังหวัดนครปฐมตั้งแต่เวลา 03.00 น. เพื่อให้มาถึงสนามหลวงเวลา 04.00 น. และได้เข้ามาถวายสักการะพระบรมศพ เป็นกลุ่มแรกตอนเวลา 05.00 น. ก็ไม่เหนื่อยไม่ท้อ เพราะอยากแสดงความรักความอาลัยต่อพระองค์
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สวรรคต ก็เหมือนเราสูญเสียอะไรสักอย่างที่เป็นเสาหลักของประชาชนไป เป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ดังนั้นพวกเราจึงตั้งใจกันทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลให้พระองค์ท่านในรูปแบบของเรา เช่น ถือศีล 5 และถือศีล 8 สวดมนต์ทุกๆ วัน จนกว่าจะครบ 100 วัน และเนื่องจากกองทัพธรรมเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศเราจึงปรุงอาหารไปแจกจ่ายให้ตามชุมชนต่างๆ นอกจากนี้จะมีโครงการปลูกผัก-ผลไม้ปลอดสารพิษส่งเข้ามาเพื่อให้ประชาชนได้กินของไร้สารเคมีอีกด้วย” นางสาคร ตัวแทนกลุ่มฯ กล่าวถึงความตั้งใจทำดีตามคำสอนขององค์พ่อหลวงรัชกาลที่ 9
นางแจ่ม รงค์ภักดี อายุ 79 ปี ชาวบ้านจากอ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้เดินทางมายังกทม. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนแล้ว ซึ่งตั้งใจมาถวายสักการะพระบรมศพโดยเฉพาะ จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่สมัยยังสาว ซึ่งตอนนั้นท่านได้เสด็จราชดำเนินมายังอ.ร่อนพิบูลย์ ซึ่งตนก็ได้เดินทางจากบ้านไปรับเสด็จ ครั้งนั้นก็รู้สึกปลาบปลื้มใจมาก
“ยายเคยหกล้มในห้องน้ำ ทำให้เดินไม่ค่อยไหววันนี้จึงต้องใช้รถเข็นช่วย แต่มีใจอยากมาถวายสักการะพระบรมศพจึงได้เดินทางมาลำพังแล้วให้ลูกสาวไปรับ สำหรับความรู้สึกนั้นก็เสียใจเป็นอย่างมาก ยายไม่คิดว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จสวรรคตแล้ว เพราะยายเติบโตมาตั้งแต่เล็กจนเฒ่าก็เห็นพระองค์งานหนักอยู่ตลอดและอยากให้คนไทยไม่ว่าจะทำอะไร ขอให้นึกถึงพ่อหลวงเสมอ” นางแจ่ม ไม่สามารถกล่าวต่อได้ เนื่องจากรู้สึกตื้นตันใจจนร้องไห้ออกมา
น.ส.มณีวรรณ ไชยยศ พนักงานธนาคารแห่งหนึ่งในจ.สุราษฏร์ธานี วัย 27 ปี กล่าวว่า เดินทางมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนด้วยรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งมีความตั้งใจเฉพาะในการถวายสักการะพระบรมศพ จากนั้นไม่ได้ย่อท้อแวะพักบ้านญาติแถวมีนบุรีประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นก็ได้เดินทางมายังสนามหลวงในเวลา 03.00 น.เพื่อเข้าแถวรอคิวท่ามกล่างประชาชนจำนวนมาก
“รู้สึกภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้เกิดในรัชกาลที่ 9 และฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็รู้สึกเสียเป็นอย่างมาก แม้ทำอะไรไม่ได้มากแต่ขอนำแนวทางพระราชดำริมาเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะการใช้ยาสีฟันตามแบบพระองค์ท่าน ที่เคยเห็นในจอโทรทัศน์ว่า ท่านทรงบีบยาสีฟันจนหลอดนั้นไม่เหลือยาสีฟัน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของความพอเพียงในการไม่ใช่จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย” น.ส.มณีวรรณ
นายจิรายุ มาสมบูรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวในฐานะเด็กรุ่นใหม่ ว่า ตอนแรกว่าจะรอให้หลายวันก่อนถึงจะเข้ามาสักการะพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จากนั้นคิดว่าตนเป็นคนในพื้นที่ เดินทางไม่ได้ลำบาก หากมีโอกาสควรเข้าสักครั้งในชีวิต แม้จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็ยังเห็นว่าท่านทรงมีพระคุณต่อประเทศไทยอย่างหาที่สุดมิได้
“ผมเรียนมาจากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา 3 ซึ่งได้รับฟังพระบรมราโชวาทในทุกวัน ทั้งในห้องเรียน ทั้งจากคำกล่าวของคุณครูทำให้เกิดการสั่งสมมาตั้งแต่เด็กในเรื่องของคำสอนและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แล้วผมก็นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสวนขนาดย่อมของตนเอง และจำได้ดีถึงหลักการ 30:30:30:10 มาใช้ ซึ่งปัจจุบันสวนของผมได้เป็นไปตามคำที่ท่านกล่าวไว้” นายจิรายุกล่าว