
ผู้แทนอัยการอเมริกา ร่วมยืนสงบนิ่ง กล่าวอาลัย "ในหลวง"
" อัยการสูงสุด " ร่วมฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย INL อเมริกา เปิดอบรมเชิงปฎิบัติอัยการ-ดีเอสไอ-ปปง.-ตร. เพิ่มทักษะเทคนิคขั้นสูงการสอบสวน-รวบรวมหลักฐาน
ที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยท์ ถ.เพลินจิต วันที่ 2 พ.ย.59 เวลา 09.00 น. ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ พนักงานอัยการ ตำรวจ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่สำนักงานปัองกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง.) 56 คน เรื่อง " เทคนิคขั้นสูงในการสืบสวนสอบสวนและนำเสนอพยานหลักฐาน ซึ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับฝ่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและยาเสพติด ( International Narcotics and Law enforcement หรือ INL) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา จัดอบรมดังกล่าวระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.นี้ เพื่อพัฒนาทักษะการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัล การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงการติดตามเส้นทางการเงินของผู้กระทำผิด โดยมี นายดอน ฮอฟแมน ( Prosecutor. Donn Hoffman) , นายริชาร์ด ดูเลย์ ( Prosecutor. Richard Dooley) , นายไมเคิล โรบินสัน ( Michael Robinson ) กับนายคริส ออปเพ็นบอร์น ( Chirs Oppenborn ) อัยการจากสำนักงานอัยการเขตลองแอนเจลิสเคานท์ตี้และพนักงานสอบสวน ที่มีประสบการณ์ด้านการสืบสวนสอบสวนยาเสพยติด การติดตามทรัพย์สินและด้านการหาหลักฐาน ร่วมเป็นผู้บรรยายให้ความรู้ และบอกเล่าประสบการณ์ทำงาน
โดย ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ กล่าวเปิดงานว่า การกระทำผิดในรูปเเบบอาชญกรรมข้ามชาติเป็นอันตรายที่ทั่วโลกต้องให้ความร่วมมือทำงานอย่างจริงจัง องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมีการกนะทำไปถึงการทุจริตคอรัปชั่น ค้ามนุษย์ ฟอกเงิน หรืออาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงต้องมีการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ที่จะนำทรัพย์สินมาคืนแก่ผู้เสียหาย หรือยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน ซึ่งเรารักษาความสัมพันธ์อันดีนี้ไว้ต่อไป
ต่อมานายคริส ออปเพ็นบอร์น เป็นผู้แทนคณะอัยการจากสำนักงานอัยการเขตลองแอนเจลิสเคานท์ตี้ ได้กล่าวเป็นภาษาไทยแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาร่วมสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งการเข้ามาในเวลานี้ก็ทราบว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของประเทศไทยจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั่วประเทศและต่างประเทศในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้พวกเราอยู่ในความเศร้าได้รับความเสียใจอย่างมาก ในโอกาสนี้จึงขอให้พวกเราน้อมจิตถวายความอาลัยเเด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ด้วยการขอให้ทุกคนยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที
โดย ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ นายดอน อัยการจากสำนักงานอัยการเขตลองแอนเจลิสเคานท์ตี้ และคณะผู้ร่วมอบรมทั้ง 56 คน ร่วมยืนสงบนิ่งแสดงความอาลัยโดยพร้อมเพรียงกัน
ภายหลังนายคริส ออปเพ็นบอร์น ผู้แทนคณะอัยการจากสำนักงานอัยการเขตลองแอนเจลิสเคานท์ตี้ กล่าวว่าพวกผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมกันอบรมครั้งนี้ เราไม่ใช่มาบอกว่าให้ท่านควรทำอย่างไร เเต่เรามาเเบ่งประสบการณ์การทำงานของเราว่าอย่างไรจึงได้ผลดีต่อกระบวนการยุติธรรม
ขณะที่ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ อัยการสูงสุด กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน การค้นหาพยานหลักฐานต่างๆ ในส่วนของความผิดที่เกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริต ค้ามนุษย์ และยาเสพติดเพื่อให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ และ สตช. ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยจะมีคดีการฟอกเงินที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ และการทุจริต ดังนั้นคดีเหล่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยการอบรมนี้ก็ดำเนินการต่อเนื่องที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยสหรัฐฯ เชิญอัยการไทยไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน และครั้งนี้สหรัฐส่งวิทยากรมาเพื่อร่วมประชุมให้ความรู้ ข้อคิด โดยยังจะมีการจัดอบรมอีกครั้งที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 7-9 พ.ย.นี้
สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่จะมีการจัดสัมมนาเรื่องอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือ ไซเบอร์ไคร์ม ต่อไปอีกช่วงต้นปีหนัา ( พ.ศ.2560 ) ซึ่งได้มีการส่งตัวแทนมาประสานในเบื้องต้นแล้ว
" สิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่สามารถดำเนินคดีสู่ศาล ที่จะลงโทษผู้กระทำผิดได้ โดยคดีค้ามนุษย์ การทุจริตที่มีการฟอกเงิน ก็จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศด้วย ซึ่งการทำผิดจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ เราจะได้ศึกษาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่จะหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้" อัยการสูงสุด กล่าวย้ำ
และว่า ขณะที่การประสานความร่วมมือที่จะติดตามพยานหลักฐานในต่างประเทศเราจะมี พ.ร.บ.ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ ที่จะประสานกับต่างประเทศโดยมีอัยการสูงสุด เป็นผู้ประสานงานกลาง ส่วนรายละเอียดข้อมูลที่ประสานขอนั้นเราจะได้รับความร่วมมือเพียงใด ก็ขึ้นกับการพิจารณาของประเทศนั้นๆ ด้วย