
ฝรั่งคิดอย่างไร! กับเศรษฐกิจพอเพียง
โดย - อาจารย์ยักษ์ ณ มหาวิทยาลัยคอกหมู
ขอบอกเล่าเรื่องราวของนักวิชาการชั้นนำของโลกชาวนิวซีแลนด์ Dr.Gavin Kenny (ดร.แกวิน เคนนี่) ที่คลุกคลีศึกษาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนมาเกือบ 20 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิของ IPCC (Intergovernmental Panel of Climate Change) หน่วยงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องของ อ.ยักษ์ ได้มีโอกาสต้อนรับบุคคลคนนี้ ซึ่งอดีตเป็นนักวิชาการด้านระบบนิเวศน์และการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่เดินทางทั่วโลกเก็บข้อมูลปัญหา และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในระดับท้องถิ่น โดยเลือกไทยเป็นจุดเริ่มต้นประเทศแรก ดร.แกวิน ให้ความเห็นที่น่าคิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างน่าฟังว่า
“สิ่งที่ผมพบเห็นในประเทศไทยในระยะสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่แตกต่างจากปัญหาที่เกิดชึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ การเน้นปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว การใช้ปุ๋ยเคมี การถางป่าจำนวนมหาศาลเพื่อเปลี่ยนให้เป็นปศุสัตว์ โดยฉพาะเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการเลี้ยงแกะ ปัญหาน้ำท่วม สลับกับภาวะแห้งแล้ง สภาพอากาศที่ปรวนแปรที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบันนิวซีแลนด์มีพื้นที่ป่าธรรมชาติเพียงน้อยนิดไม่ถึง 15 % การเห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้นโดยไม่คำนึงถึงเยาวชนคนรุ่นหลังทำให้คนนิวซีแลนด์เอง ก็ไม่เห็นประโยชน์ในการปลูกป่าธรรมชาติที่ต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งชั่วอายุคน"
ดร.แกวิน บอกอีกว่า การปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ต้นสน และยูคาลิตัส จึงเป็นพืชที่เห็นดาษดื่นทั่วไปในนิวซีแลนด์ แต่อย่างน้อยยูคาลิบตัส ก็ยังเป็นพืชท้องถิ่นของนิวซีแลนด์ แต่เมื่อมาเห็นป่ายูลาลิบตัสในประเทศไทย ก็สงสัยว่าทำไมจึงหันมาปลูกยูคาฯ เพราะเป็นพืชที่ทำลายดินรวดเร็วมาก และไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของไทย
"ที่ไม่น่าแปลกใจก็คือ ยูคาลิบตัสที่เห็นในประเทศไทยมันแคระแกรน ไม่สมบูรณ์เลย ในความเห็นของผม เกษตรกรไทยจำนวนมากกำลังเดินหลงทาง กำลังทำลายธรรมชาติอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะในที่สุดธรรมชาติก็ต้องทำการทวงคืน แต่ท่ามกลางขบวนการทำร้ายธรรมชาติ ผมก็ดีใจที่ได้พบความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อคืนความสมดุลย์สู่ธรรมชาติ ภายใต้แนวคิดขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง"
"คนไทยโชคดีมหาศาลที่มีผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ที่เข้าใจวิถีธรรมชาติ เข้าใจการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักการสร้างสมดุล สำหรับผมเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทางออกของวิกฤติโลก เพราะเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับผม คือ ความสมดุลย์ระหว่างคำ 2 คำ คือ นิเวศน์วิทยา (Ecology) และ เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์(Economy) คุณทราบไหมว่า รากศัพท์ ของคำทั้ง 2 มีที่มาจาก คำเดียว กัน คำว่า eco เป็นคำภาษากรีก แปลว่า“บ้าน”คำว่า ecology คือการสร้างความเป็นระเบียบให้กับบ้าน ขณะที่ economy คือระบบจัดการสิ่งต่างๆในบ้าน"
ดร.แกวิน อธิบายว่า ทั้งสองคำเป็นการสะท้อนความเข้าใจที่ถูกต้องของคนโบราณต่อความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ กับวัตถุที่เรารวบยอดความคิดอยู่ในคำว่า economy ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าแผ่นดินไทย จึงเป็นทฤษฎีที่ยอดเยี่ยมที่สะท้อนความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างระบบนิเวศน์วิทยา และการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว การดำรงชีวิตที่เคารพและนอบน้อมต่อธรรมชาติ เข้าใจกฎเกณท์ธรรมชาติซึ่งเป็นกฎเกณท์พื้นฐานของทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เพียงแต่เป็นทฤษฎีที่ก้าวหน้าทันสมัย ต่อการแก้ปัญหาสถาณการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ยังเป็นสิ่งที่เขาเชื่อว่าในไม่ช้านานาประเทศจะเอาเป็นเยี่ยงอย่างและเจริญรอยตาม
ขณะที่ฝรั่งกำลังชื่นชมเศรษฐกิจพอเพียงว่า "เป็นหนทางรอดของวิกฤติโลก" แล้วคนไทยล่ะ จะรอให้ฝรั่งมาบอกว่าเรา “โง่” หรือ ที่มีของดีแล้วไม่รู้คุณค่า