
“มีชัย” เผย 6 ประเด็น ปรับร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง
“มีชัย” เผย 6 ประเด็น ปรับร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง กระจายอำนาจให้ ตัวแทนสาขาพรรค ร่วมเลือกผู้สมัคร – กำหนด กกต. จ่ายเงินสมทบพรรค คำนวณตามคะแนนเลือกตั้ง
เมื่อเวลา 13.20 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกรธ. วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ถึงความคืบหน้าการปรับปรุงเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จากเนื้อหาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำเสนอ ว่า ได้ปรับปรุงในหลายประเด็น อาทิ 1.การจัดตั้งพรรคการเมือง กรธ. ได้กำหนดให้ทำได้ทั้ง 2 แนวทาง คือ รวบรวมสมาชิกพรรคการเมือง ได้ครบ 500 คนสามารถจดจัดตั้งพรรคการเมืองได้ หรือ ส่งบุคคลจองชื่อพรรคการเมืองไว้ก่อน จากนั้นในระยะเวลา 3 – 6 เดือนต้องดำเนินการหาสมาชิกพรรคการเมืองให้ครบจำนวนเพื่อจดทะเบียบจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งปรับปรุงจากเนื้อหาของ กกต. ที่ให้ทำใน 2 ขั้นตอน คือ จองชื่อพรรคและหาสมาชิกให้ครบจำนวนก่อนจดจัดตั้ง โดยเหตุผลสำคัญเพื่อให้การจดตั้งพรรคการเมืองทำได้ง่ายขึ้น 2. สำหรับสมาชิกพรรคการเมืองที่ร่วมลงชื่อเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง จำนวน 500 คนนั้นต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมของพรรคการเมือง เพื่อให้สมาชิกและประชาชนที่มีทิศทางเดียวกันกับพรรคการเมืองเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง และเพื่อนำเงินทุนประเดิมดังกล่าวไปใช้ในการประกอบกิจกรรมทางการเมืองของพรรค ซึ่งประเด็นดังกล่าวแยกออกจากการเก็บค่าสมัครสมาชิกของพรรคการเมือง ส่วนการย้ายสังกัดพรรคนั้นยังคงเป็นไปตามหลักการเดิม แต่หากพบว่าบุคคลสมัครสมาชิกฯ ซ้อนกันต้องให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคทั้งหมด ทั้งนี้ไม่ได้ตัดสิทธิที่จะเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดอีก
นายมีชัย กล่าวต่อว่า 3. สำหรับการจ่ายเงินอุดหนุนให้พรรคการเมือง ได้ปรับเกณฑ์จากเดิม คือ ให้ กกต. เป็นผู้จัดสรรเงินให้พรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะใช้เกณฑ์คำนวณที่ยึดโยงกับประชาชนมาที่สุด คือ คำนวณจากเงินค่าบำรุงพรรคที่สมาชิกฯจ่าย, เงินบริจาคที่ประชาชนจ่ายไว้ตอนชำระภาษีเงินได้ หรือคะแนนเสียงที่พรรคได้รับจากการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.จะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อจ่ายเงินสมทบให้พรรคการเมือง ซึ่งการนำเงินดังกล่าวไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น กิจกรรมการเมือง หรือเก็บไว้ช่วงเลือกตั้ง และต้องรายงานต่อกกต. ซึ่งหากพบว่าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคใช้เงินผิดวัตถุประสงค์จะมีบทลงโทษ เช่น กรณีที่กรรมการบริหารพรรคนำเงินอุดหนุนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในพรรคการเมืองใดๆ อีก ซึ่งการปรับดังกล่าวเพื่อให้เกิดความง่ายในการทำงาน และแก้ปัญหาที่พรรคการเมืองนำตัวเลขสาขาพรรคซึ่งไม่เป็นความจริงมาขอเงิน รวมถึงเพื่อให้พรรคมีความรับผิดชอบและดูแลกันเอง ขณะที่ประเด็นการรื้อคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น กรธ. ยังไม่มีประเด็นหารือ แต่ในกรณีดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่ต้องพิจารณาให้ได้ผู้บริหารที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข เช่น ไม่มีลักษณะต้องห้าม หรือ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากพบว่าผู้บริหารพรรคมีคุณสมบัติครบถ้วน หรือหัวหน้าพรรคดีอยู่แล้ว กรธ. จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ยกเว้นแต่พรรคที่มีผู้บริหารไม่ครบตามคุณสมบัติต้องมีการเลือกเข้ามาใหม่เพิ่มเติม
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า 4.ประเด็นการพิจารณาส่งผู้สมัคร ส.ส. กำหนดเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นให้พรรคการเมืองจัดตั้งสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขา และสาขาหรือจังหวัดใดที่มีสมาชิกเกิน 100- 200 คน พรรคต้องตั้งตัวแทนพรรคการเมืองไว้เพื่อให้เป็นตัวแทนที่มีสิทธิเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งและเป็นคณะกรรมการสรรหา เพื่อให้การสรรหาบุคคลในพรรคมีความหลากหลายไม่กระจุกอยู่เฉพาะกลุ่มผู้บริหารเท่านั้น เบื้องต้นได้กำหนดว่าการพิจารณาต้องบังคับให้มีผู้บริหารพรรคกึ่งหนึ่งร่วมกับตัวแทนของพรรคกึ่งหนึ่ง, 5. ประเด็นข้อห้ามให้บุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเข้ามาบงการพรรคการเมืองนั้น เบื้องต้นต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ซึ่งหากพบความผิดจะได้รับการลงโทษทั้งทางอาญาและทางการเมือง แต่ลักษณะโทษนั้นกรธ. ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด แต่ในเบื้องต้นบุคคลที่รับคำสั่งต้องได้รับโทษเฉพาะตัว เช่น พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับการลงโทษยุบพรรคการเมือง ทั้งนี้กรธ. พยายามจะนำปัญหาที่มีในอดีตมาเขียนในร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา
ประธาน กรธ. กล่าวด้วยว่า 6.สำหรับประเด็นการมีอิสระของส.ส. ต่อการพิจารณาเรื่องต่างๆ และมติของพรรคการเมืองนั้น กรธ. กำหนดกรอบเบื้องต้น คือ ข้อบังคับหรือมติของพรรคต้องไม่ขัดต่อความเป็นอิสรในการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ส่วนการใช้สิทธิลงมติเลือกนายกฯ ในสภานั้น ไม่สามารถกำหนดเป็นเฉพาะเจาะจงได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับข้อบังคับของพรรคการเมือง ซึ่งหลักการสำคัญต้องกระทบต่อความเป็นอิสระของ ส.ส. แต่กรณีที่อาจเกิดขึ้น อาทิ ส.ส.ลงมติไม่เป็นไปในทิศทางของพรรคการเมืองนั้น พรรคการเมืองสามารถขับไล่ได้ แต่หากส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรครู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถยื่นเรื่องต่อศาลให้พิจารณา หรือให้ความคุ้มครองได้ ขณะที่การควบรวมพรรคการเมืองนั้น สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขคือไม่ควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างที่มีสมัยประชุม เพื่อไม่ให้ถูกซื้อเหมาในสภาฯ ได้