ก.เกษตรฯ ร่วมเอกชนลงนามส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนปลูกข้าวนาปรัง ปี 2559/60 ตั้งเป้าปรับลดพื้นที่ 2 ล้านไร่ ใน 31 จังหวัด
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือสานพลังประชารัฐในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทดแทนการปลูกข้าว รอบ 2 ปีการผลิต 2559/60 ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนกับภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้าร่วมโครงการ
เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทดแทนการปลูกข้าว รอบ 2 รวมทั้งให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้เรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งในพื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี อันจะนำไปสู่การปรับระบบการปลูกข้าวที่ถูกต้องมั่นคง ยั่งยืน และเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการปลูกข้าว
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการ จะประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน วิเคราะห์คัดเลือกพื้นที่เหมาะสมระดับอำเภอ ตำบล โดยมุ่งเป้ารวมกลุ่มเกษตรกรตามหลักการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ความสะดวกในการบริหารจัดการน้ำ การถ่ายทอดความรู้ การผลิต การตลาด การจัดทำเวทีเพื่อรับสมัครเกษตรกร และส่งรายชื่อเกษตรกรให้ ธ.ก.ส.พิจารณาสินเชื่อไร่ละ 4,000 บาท เพื่อนำไปซื้อปัจจัยผลิต
จากนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ ประชา สัมพันธ์ ในรูปการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับทราบคำแนะนำตลอดฤดูการเพาะปลูก ส่วนการรับซื้อผลผลิตและการจ่ายเงินให้เกษตรกร โดย ธ.ก.ส. และภาคเอกชน จะจ่ายในราคาประกันกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท สำหรับข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5% ตามมาตรฐานคุณภาพข้าวโพดฯ ของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ณ โรงงานอาหารสัตว์ในเขตจังหวัดของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ มีเป้าหมายดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากข้าวนาปรังเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมมาก (S1) และเหมาะสมปานกลาง (S2) ในเขตชลประทาน หรือแหล่งน้ำอื่นที่มีน้ำตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ใน 31 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 13 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ภาคกลาง 6 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคตะวันตก 3 จังหวัด
โดยมีระยะเวลาเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – มิถุนายน 2560 ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ในการช่วยลดผลผลิตข้าวนาปรัง แก้ปัญหาผลผลิตที่มากเกินความต้องการของตลาดได้ ไม่น้อยกว่า 1.25 ล้านตัน การเพิ่มอุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพได้ราว 1.44 ล้านตัน เกิดความมั่นคงในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์
นอกจากนี้ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนนาปรัง ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 2,000 บาท รวมถึงได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ นำไปสู่การจัดระบบการปลูกข้าวตามด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนอีกด้วย