ข่าว

 "กังหันน้ำชัยพัฒนา"เครื่องบำบัดน้ำเสียที่ทั่วโลกยอมรับ 

16 ต.ค. 2559

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร


            ปัญหามลภาวะทางน้ำ นับเป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทย ที่เกิดภาวะน้ำเสียมายายนานหลายทศวรรษที่มาควบคู่กับความเจริญของชุมชน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) นับเป็นจุดศูนย์กลางแห่งความเจริญที่สุดในประเทศไทย และความเจริญที่ว่านี่เอง จนกลายเป็นบ่อเกิดแห่งการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง  

           โดยเฉพาะแหล่งตามคูคลองเล็กคลองน้อย แยกสาขาไปตามชุมชนต่างๆ มีสิ่งโสโคลกทั้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล สารเคมีปะปนจนน้ำกลายเป็นสีน้ำคล้ำเหม็นเน่าจนสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในอดีตสูญพันธุ์ไปโดยปริยาย และเชื้อโรคต่างๆเข้าไปอยู่ทดแทน ไม่เว้นแม้กระทั่งสระน้ำใหญ่น้อยตามสวนสาธารณะจากอดีตที่มีน้ำใส่กลายเป็นสีหม่น กลิ่นเหม็น

 

 \"กังหันน้ำชัยพัฒนา\"เครื่องบำบัดน้ำเสียที่ทั่วโลกยอมรับ 

 

          เป็นสาเหตุให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน สมัยที่ดำรงผู้ว่าฯร กทม.ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา และกรมชลประทานจัดโครงการสร้าง "กังหันน้ำชัยพัฒนา" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยให้สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. เป็นผู้รับผิดชอบในการติดตั้งเครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนาในสระน้ำของสวนสาธารณะทั่ว กทม.จำนวน 80 เครื่อง

          โดยผลจากที่ กทม.ติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาทั่วกรุงเทพฯ และพบว่ามีประสิทธิภาพในการบำน้ำเสียดีเยี่ยม ทำให้สิ่งประดิษฐ์นี้ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและทั่วโลก ผลงานไทยทำ ไทยใช้ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" จึงได้รับรางวัลเหรียญทองเทิดพระเกียรตินานาชาติ The Belgian Chamber of Inventor ซึ่งเป็นองค์กรด้านนวัตกรรมที่เก่าแก่ของเบลเยียม ในงาน “Brussels Eureka 2000”งานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม วันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2543

 

 \"กังหันน้ำชัยพัฒนา\"เครื่องบำบัดน้ำเสียที่ทั่วโลกยอมรับ 

 

          แสดงให้เห็นว่า "กังหันน้ำชัยพัฒนา" หนึ่งในหลายๆผลงานที่เกิดจากพระวิริยะอันสูงส่ง และพระอัจฉริยภาพ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรไทยจน คณะกรรมการนานาชาติที่พิจารณารางวัลดังกล่าว ได้กล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า

         "พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นนักพัฒนา มีพระวิริยะอันสูงส่งรวมทั้งพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ที่ดี ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์ ทรงใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่าย สิ่งประดิษฐ์ในพระองค์สามารถนำไปพัฒนาใช้งานได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก"

          ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ มูลนิธิชัยพัฒนา จ.นครนายก หนึ่งในเครือข่ายของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่มีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นประธาน อีกแห่งที่ได้ติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อเป็นจุดเรียนรู้เกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียด้วยกังหันน้ำชัยพัฒนา ให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ซึ่งปรากฏว่าในแต่ละเดือนมีผู้สนใจไปศึกษาดูงานจำนวนมาก โดยเป็นเครื่องที่ 199 ติดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2549 

 

 \"กังหันน้ำชัยพัฒนา\"เครื่องบำบัดน้ำเสียที่ทั่วโลกยอมรับ 

 

         "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ชื่อทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมว่า "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" (Low speed surface Aerator) มีชื่อจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ใช้ภาษาอังกฤษว่า Chaipattana Low Speed Surface Aerator, Model RX-2) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2531 แต่พระราชทานแนวพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบไทยทำ ไทยใช้ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2531

          เนื่องเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชน หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด จึงได้พระราชทานพระราชดำริเรื่องการแก้ไขน้ำเน่าเสีย เริ่มด้วยแก้ไขแบบง่ายๆ ด้วยการใช้วิธีกรองน้ำด้วยผักตบชวาระหว่างปี พ.ศ.2527-2530 แต่ได้ผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

 

 \"กังหันน้ำชัยพัฒนา\"เครื่องบำบัดน้ำเสียที่ทั่วโลกยอมรับ 

 

          พระองค์จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริใหม่ให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบไทยทำ ไทยใช้ขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ดังกล่าว โดยให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณศึกษาวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อนำสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ไปช่วยเหลือรัฐบาลบรรเทาน้ำเน่าเสีย แบบใช้ค่าใช้จ่ายน้อย แต่นำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำได้อเนกประสงค์ ติดตั้งง่าย เคลื่อนย้ายง่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำสาธารณะและแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ลำห้วย เป็นต้น

         ในที่สุดสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นเป็นรูปเป็นร่างออกมาในรูปแบบของประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบไทยทำ ไทยใช้ ที่เรียกว่า "กังหันน้ำชัยพัฒนา" มีลักษณะ เป็นกังหันน้ำที่มีโครงเป็นรูปเหลี่ยมบนทุ่นลอย ที่ปรับตัวขึ้นลงได้ตามระดับขึ้นลงของน้ำเพื่อการแก้มลพิษทางน้ำซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ จึงมีวิวัฒนาการของกังหันน้ำชัยพัฒนา เริ่มจากการสร้างต้นแบบได้ครั้งแรกปี 2532 แล้วนำไปติดตั้งยังพื้นที่ทดลองเพื่อแก้ปัญหาไปพร้อมๆกันหลายแห่ง 

 

 \"กังหันน้ำชัยพัฒนา\"เครื่องบำบัดน้ำเสียที่ทั่วโลกยอมรับ 

 

         ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร้องขอให้มูลนิธิชัยพัฒนาและกรมชลประทานเข้าไปช่วยเหลือในการบำบัดน้ำเสียอย่างเร่งด่วนเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น วัด โรงพยาบาล สถานที่ราชการ อื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

         "กังหันน้ำชัยพัฒนา" เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่สร้างขึ้นมาภายในประเทศไทย แบบไทยทำ ไทยใช้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานรูปแบบในการประดิษฐ์ กระทั่ง นำมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม

         จนเป็นที่ยอมรับในประสิทธิภาพของการบำบัดน้ำเสียทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถแก้ไขและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่าย แต่ผลที่ได้รับนั้นยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างแท้จริง