ข่าว

สารชะลอ"สุก"ผลไม้จากขี้เถ้า-แกลบ ผลงานอาจารย์มรภ.อุตรดิตถ์

สารชะลอ"สุก"ผลไม้จากขี้เถ้า-แกลบ ผลงานอาจารย์มรภ.อุตรดิตถ์

12 พ.ย. 2559

โดย - บุญพิมพ์ ใบยา

 

                เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์ จำกัด หมู่ 8 ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ นายเรืองศักดิ์ เตียเอี่ยมดี กรรมการผู้จัดการโรงสีข้าว และ ดร.กิตติ เมืองตุ้ม รอง ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ แถลงถึงความสำเร็จในการคิดค้น “สารชะลอการสุกของผลไม้ จากขี้เถ้าแกลบ” แก้ปัญหาการตัดผลไม้อ่อน ของเกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสารนี้ต้นทุนต่ำ น้ำหนักเบา ปลอดภัย เบื้องต้นสามารถชะลอการสุกของผลไม้ได้นานถึง 20 วัน 

               นายเรืองศักดิ์ เตียเอี่ยมดี ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์ จำกัด โรงสีขนาดใหญ่ซึ่งมีมากกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ผ่านมาประสบปัญหาการกำจัดของเสียจากการสีข้าว โดยเฉพาะขี้เก้าแกลบที่เกิดจากกระบวนการอบข้าวเปลือกให้แห้ง ซึ่งมีปริมาณมากถึงวันละ 10 ตัน หรือปีละกว่า 3000 ตัน ปริมาณนี้เพียงแค่ 1 โรงสีเท่านั้น โดยกำจัดด้วยวิธีการขายในราคาถูก ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขี้เถ้าแกลบเพื่อทำปุ๋ยหมัก และถมที่ดินในราคาตันละ 200 บาท 

ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์ตกค้างในโรงสีข้าว จึงได้นำปัญหาดังกล่าวปรึกษาและหาแนวทางร่วมกับนักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ และรู้สึกดีใจ และทึ่งกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น ที่สำคัญยังสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และ ธุรกิจการส่งออกผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ

ดร.กิตติ ระบุว่า หลังผู้ประกอบการโรงสีข้าวนำเสนอปัญหาที่เกิดจาก ขี้เถ้าแกลบ ทั้งนี้จากการหลักภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้เฒ่าผู้แก่สมัยก่อน คือ หากต้องการให้ผลไม้สุกช้า เก็บรักษาได้นาน จะใช้แกลบกลบไว้ หรือ ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อ ด้วยหลักการดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นและทดลอง นำขี้เกถ้าแกลบเข้าสู่กระบวนการตามหลักวิทยาศาสตร์ พบว่า ขี้เถ้าแกลบสามารถดูดซับสารเอทิลีน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผลไม้สุกได้

จากนั้นจึงมีการทดลองกับผลไม้ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งทุเรียน ลางสาด ลองกอง และผลไม้ชนิดบ่มสุกจากทั่วประเทศ และทั่วโลก ที่ส่งจำหน่ายในประเทศไทย หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม จะชะลอการสุกนานถึง 20 วัน สารชะลอการสุกของผลไม้จากขี้เถ้าแกลบ ไม่เพียงจะช่วยยึดอายุการสุกของผลไม้ในเก็บรักษาได้นานเท่านั้น ยังเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพผลไม้ด้านธุรกิจการส่งออก ที่สำคัญแก้ไขปัญหาการตัดผลไม้อ่อนของเกษตรกร ต่อไปตัดผลไม้แก่ ใช้สารดังกล่าวช่วย สารดังกล่าวจะชะลอการสุก ผลไม้จะค่อยๆสุก เมื่อถึงผู้บริโภคจะสุกพอดี หรือ ยังพอมีเวลาให้วางจำหน่ายได้อีก และมีความเบา ไม่เป็นปัญหาด้านการขนส่งแต่อย่างใดและแก้ไขปัญหากำจัดของเสียจากโรงสีข้าวได้ด้วย

ปัจจุบันมีการต่อยอดบรรจุในถุง คล้ายสารกันความชื้น มีหลายขนาด ทั้งเหมาะสำหรับใช้ในครัวเรือนที่ซื้อผลไม้มา1-2กิโลกรัม แต่ทานไม่หมดเพียงนำผลไม้ในถุงพลาสติก วางผงขี้เถ้าแกลบที่ผ่านกระบวนการวิทศาสตร์ลงไป ไม่ต้องปิดปากถุง จะอยู่ได้นาน7วัน รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าส่งขายผลไม้ในประเทศและส่งออก ความสำเร็จดังกล่าว ยังได้รับโล่รางวัลเกียรติยศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากการประกวดนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2559 จัดโดยมูลนิธิข้าวในพระบรมราชูปถัมภ์และพร้อมพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

-------