ข่าว

10 ประเทศไม่รวย แบกรับผู้อพยพครึ่งโลกอยู่ในเวลานี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลุ่มสิทธิจี้ประเทศร่ำรวย ได้เวลาแบ่งปันความรับผิดชอบอย่างสมกำลังและฐานะ บรรเทาวิกฤติผู้อพยพโลก ปล่อย 10 ประเทศแบกรับผู้อพยพกว่าครึ่งมานานเกินไป

 

          แอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล มีสำนักงานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยรายงานชื่อ “การรับมือวิกฤติผู้ลี้ภัยโลก จากหลีกหนีสู่การแบ่งปันรับผิดชอบ” ระบุว่า ปัจจุบัน โลกมีผู้อพยพและลี้ภัย 21 ล้านคน แต่ราว 56% พักพิงอยู่ในแค่ 10 ประเทศ ที่มีผลผลิตมวลรวมภายใน (จีดีพี) รวมกัน คิดเป็นเพียง 2.5% ของจีดีพีโลกเท่านั้น พร้อมสนับสนุนข้อเสนอของสหประชาชาติ ที่ขอให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ช่วยกันรับผู้อพยพไปตั้งถิ่นฐาน 10% ในแต่ละปี

          ซาลิล เชตตี เลขาธิการแอมเนสตี กล่าวว่า หลายประเทศต้องแบกรับผู้อพยพมากเกินไป เพราะมีชายแดนติดกับวิกฤติในเพื่อนบ้าน อย่างซีเรีย เซาท์ซูดาน อัฟกานิสถาน และอิรัก ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำโลกจะต้องเข้าสู่การหารืออย่างสร้างสรรค์และจริงจัง ว่าจะช่วยเหลือผู้คนที่ต้องทิ้งบ้านเพราะสงครามและการเข่นฆ่าอย่างไร

          10 ประเทศที่รับภาระผู้อพยพมากที่สุดในโลก ได้แก่ จอร์แดน (กว่า 2.7 ล้าน) ตุรกี (2.5 ล้าน) ปากีสถาน (1.6 ล้าน) เลบานอน (1.5 ล้าน) อิหร่าน (979,400) เอธิโอเปีย (736,100) เคนยา ( 553,900 ) ยูกันดา (477,200) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (383,100) และชาด (369,500)

          ขณะประเทศร่ำรวยที่สุดหลายประเทศ  ติดกลุ่มรับผู้อพยพน้อยและช่วยเหลือน้อยที่สุด ยกตัวอย่างสหราชอาณาจักร (ยูเค) รับผู้อพยพชาวซีเรียราว 8,000 คนนับจากปี 2554 ขณะมีชาวซีเรียขึ้นทะเบียนเป็นผู้อพยพในจอร์แดนกว่า 6.7 แสนคน แต่จอร์แดนมีประชากรมากกว่ายูเคเกือบ 10 เท่า และมีจีดีพีคิดเป็นสัดส่วนเทียบของยูเคแค่ 1.2%

          สงครามกลางเมืองกว่า 5 ปีทำให้ชาวซีเรียหนีภัยออกนอกประเทศเกือบ 5 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่ไปอาศัยในตุรกี เลบานอน จอร์แดน และอียิปต์ ขณะที่สหรัฐอเมริการับผู้อพยพซีเรียเกือบ 1.2 หมื่นคนนับตั้งแต่สงครามปะทุ

          แต่รายงานชื่นชมแคนาดา ที่รับผู้อพยพไปตั้งถิ่นฐานเกือบ 3 หมื่นคนนับจากเดือนพฤศจิกายน 2558 และเยอรมนี ที่รับผู้อพยพกว่า 1 ล้านเมื่อปีที่แล้ว แสดงความเป็นผู้นำในการรับมือปัญหาท้าทายนี้

10 ประเทศไม่รวย แบกรับผู้อพยพครึ่งโลกอยู่ในเวลานี้

 

          รายงานระบุว่า การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียวของประเทศร่ำรวย ทำให้วิกฤติผู้อพยพโลกมีแต่เลวร้ายลง หากทุกๆ ประเทศร่ำรวยในโลกพร้อมใจกันรับผู้อพยพในสัดส่วนเหมาะสมกับขนาด ฐานะและอัตราว่างงาน การหาบ้านให้แก่ผู้อพยพทั่วโลกก็จะมีทางออก

          รายงานของแอมเนสตี  อินเตอร์เนชันแนล ชี้ด้วยว่า ประชาชนในบางประเทศ ได้รับข้อมูลผิดๆที่มักเกิดจากปัจจัยการเมือง จนทำให้เกิดกระแสเกลียดกลัวต่างชาติ ต่อต้านผู้อพยพและความวิตกด้านความปลอดภัย ขณะผลศึกษาหลายชิ้น ยืนยันว่า สำหรับประเทศร่ำรวย ผลประโยชน์ที่จะได้ในระยะยาว มีมากกว่าภาระระยะสั้น โดยหากฝ่าฟันความยุ่งยากระยะปรับตัวและเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ผู้อพยพจะมีส่วนสนับสนุนทางเศรษฐกิจอย่างมาก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ