ข่าว

"มะกรูด"บำรุงเลือด-แก้จุกเสียด

"มะกรูด"บำรุงเลือด-แก้จุกเสียด

04 ต.ค. 2559

โดย - นายสวีสอง

           หลายคนคงคุ้นเคยกับ "มะกรูด" เป็นอย่างดี เพราะเป็นสมุนไพรคู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน นิยมใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้ ปกติมักใช้ใบและผิวมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุง มีสรรพคุณทางยามากมาย ถือเป็นไม้มงคลที่นิยมปลูกเพราะเชื่อจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข โดยจะปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน

         เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กในวงศ์ส้ม Rutaceae ชื่ออื่นๆ มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ) มะหูด (หนองคาย) ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้) โกรยเซียด (เขมร) มะขู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

 

\"มะกรูด\"บำรุงเลือด-แก้จุกเสียด

 

         ลำต้น และกิ่งมีหนามยาวเล็กน้อย

        ใบ เป็นใบประกอบ ลักษณะคล้ายกับใบไม้ 2 ใบต่อกัน คอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน ใบสีเขียวแก่พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยง เป็นมัน ค่อนข้างหนามีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ใบด้านบนสีเข้ม ใต้ใบสีอ่อน

        ดอก ออกเป็นกระจุก 3 – 5 ดอก กลีบดอกสีขาว เกสรสีเหลือง ร่วงง่ายมีกลิ่นหอม

        ผล สีเขียวเข้มคล้ายมะนาวผิวเปลือกนอกขรุขระ ขั้วหัวท้ายของผลเป็นจุก ผลอ่อนมีเป็นสีเขียวแก่ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด พันธุ์ที่มีผลเล็ก ผิวจะขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่ขั้ว ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก

 

\"มะกรูด\"บำรุงเลือด-แก้จุกเสียด

 

        ขยายพันธุ์ ปักชำกิ่ง เติบโตได้ในทุกสภาพดิน ชอบความชื้น แสงแดดเต็มวัน     

        ประโยชน์และสรรพคุณทางยา : ส่วนที่ใช้ ผล ผิวของผล น้ำของผล ใบ และราก ทั้งนี้ ในใบและผลเมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะให้น้ำมันหอมระเหยปริมาณ 0.08 % และ 4% ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยจากผิวมักประกอบด้วยเบต้า-ไพนีน,ไลโมนีนและซาบินีน เป็นสารหลัก ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบจะประกอบด้วย ซีโทรเนลลาล,ไอโซพูลิโกล และไลนาลูออล เป็นสารหลัก ส่วนในน้ำมะกรูดมีกรดซิตริก ไวตามินซี และกรดอินทรีย์ชนิดอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ

      1.ใช้เป็นยาหรือส่วนผสมของยาต่างๆ คือ น้ำในผลแก้อาการท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร น้ำมะกรูดใช้ดองยา เพื่อใช้ฟอกเลือด และบำรุงโลหิตสตรี เนื้อของผลใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ใบมะกรูดใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ผลมะกรูดที่คว้านไส้ออกนำมหาหิงส์ใส่แทนใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้องในเด็กอ่อน

      2.ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและเครื่องสำอางค์ต่าง ๆ

      3.กรด Citric ช่วยขจัดคราบสบู่ (ด่าง) ที่หลงเหลืออยู่ ทำให้ผมหวีง่าย น้ำมันจากผิวมะกรูดช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม

      4.ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร ในดับกลิ่นคาวของอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงต่าง ๆ

 

\"มะกรูด\"บำรุงเลือด-แก้จุกเสียด

 

        วิธีการใช้ : 

  • แก้ลม บำรุงหัวใจ ใช้ผิวสดหั่นเป็นชิ้น ผสมการะบูรหนึ่งหยิบมือ ชงน้ำเดือด คนให้ละลาย ปิดฝาทิ้งไว้ 3-5 นาที ดื่มเอาแต่น้ำ ช่วยให้ระบบไหลเวียนของโลหิตดี
  • ยาขับเสมหะ แก้ไอ ใช้ผลมะกรูดผ่าซีกเติมเกลือ ลนไฟให้เปลือกนิ่ม บีบน้ำมะกรูดลงในคอทีละน้อยๆ
  • นำมะกรูดผ่าซีกลงในหม้อ ต้มอาบได้น้ำมันหอมระเหยอยู่บนผิว ทำให้ผิวไม่แห้ง และรสเปรี้ยวของมะกรูดช่วยให้อาบสะอาด ทั้งใช้มะกรูดผ่าซีกเอาน้ำมาสระผม 
  • ตัดจุกผลมะกรูด คว้านไส้กลางออก เอามหาหิงส์ใส่แล้วปิดจุก นำไปเผาไฟจนดำเกรียม บดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งรับประทาน จะช่วยขับลม แก้ปวดท้อง
  • น้ำมะกรูดใช้ถูกฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • เอาผลมะกรูดมาดอง เป็นยาดองเปรี้ยวรับประทานขับลมขับระดู
  • เปลือกผลฝานบาง ๆ ชงน้ำเดือดใส่การะบูรเล็กน้อย รับประทานแก้ลมวิงเวียน
  • เปลือกฝนใช้ผสมในเครื่องสำอางบางชนิด เช่น แชมพู สบู่

ที่มาข่องข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),www.rspg.or.th, www.learners.in.th