
ฆ่า'ซาร่า โจนส์'เงาฆาตกร.."คนเอเชียใต้"
คดีฆ่า-ข่มขืนหญิงต่างชาติเป็นรอยด่างพร้อยการท่องเที่ยวไทยทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุอุกอาจสะเทือนขวัญขึ้น หนึ่งในนั้นคือคดี "คริสตี้ ซาร่า โจนส์" นักศึกษาสาวชาวอังกฤษวัย 24 ปี ที่ถูกฆาตกรรมเสียชีวิตในเกสต์เฮ้าส์เมืองเชียงใหม่ ผ่านมา 9 ปีแล้วก็ยังไม่สามารถติดตา
บ่ายแก่ๆ วันที่ 10 สิงหาคม 2543 คริสตี้ถูกพบเป็นศพอยู่ในห้องพักอารีย์เกสต์เฮ้าหลังเล็กๆ ถนนมูลเมือง ซอย 6 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ภายในห้องกลาดเกลื่อนไปด้วยข้าวของที่กระจัดกระจายไปทั่วห้อง สภาพศพถูกข่มขืนและเสียชีวิตจากการรัดคออย่างทรมาน อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนจะมีผู้มาพบศพของเธอ จากหลักฐานที่พบตำรวจเชื่อว่าฆาตกรน่าจะตัวใหญ่เอาการ หรือไม่ก็มีจำนวนมากกว่าจึงส่งผลอย่างที่เห็น การสืบสวนติดตามตัวผู้ต้องสงสัยเริ่มต้นขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนแวดล้อมตัวเหยื่อรอบๆ เกสต์เฮ้าส์ราว 8 คน มีทั้งคนไทย ต่างชาติ และกะเหรี่ยง
ไกด์ทัวร์ป่าคนหนึ่งเป็นกะเหรี่ยงที่นำพาคริสตี้ไปเที่ยวทัวร์ ถูกตำรวจเชิญตัวมาสอบปากคำชนิดรีดเค้นความจริงออกมาให้ได้มากที่สุด แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมาเขาร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปทั่ว โดยเฉพาะในประเด็นถูกอุ้มไปรีดน้ำอสุจิไปตรวจสอบว่า ตรงกับที่พบในช่องคลอดของเหยื่อหรือไม่
เมื่อพลาดจากกะเหรี่ยงไกด์ทัวร์ ตำรวจเพ่งเล็งไปที่ตำรวจท่องเที่ยวนายหนึ่ง ซึ่งพยานแวดล้อมให้การว่ารู้จักมักคุ้นกันดีกับเจ้าของเกสต์เฮ้าส์ และวันเกิดเหตุเขาก็ปรากฏกายอยู่ในเกสต์เฮ้าส์ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ตามแนวทางสืบสวนไม่เป็นที่ประจักษ์ว่า มีการเชิญตัวมาสอบปากคำด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ชุดสืบสวนยังคงเดินหน้าค้นหาเบาะแสฆาตกรรายนี้ต่อไป โดยเรียกตัวอดีตผู้จัดการอารีย์เกสต์เฮ้าส์ ซึ่งเป็นคนพบศพคริสตี้เป็นคนแรก ประกอบกับเท่าที่ตำรวจ สภ.อ.เชียงใหม่ (ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ สภ.เชียงใหม่ ในยุค พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็น ผบ.ตร.) มีประวัติอยู่พบว่าเขาเคยทำแม่ชีคนหนึ่งท้อง ครั้นเมื่อเข้าตรวจค้นห้องพักส่วนตัวยังพบรูปโป๊และกัญชาไว้ในครอบครอง โดยอดีตผู้จัดการเกสต์เฮ้าส์ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมาก คือเขาระบุเจาะจงลงไปเลยว่า ก่อนเกิดเหตุพบเห็น "แอนดริว เจมส์กิลล์" เจ้าของอารีย์เกสต์เฮ้าส์ วัย 36 ปี ถือสัญชาติอังกฤษและไอร์แลนด์ คร่อมอยู่บนตัวของคริสตี้ ?
ผ่านไป 1 เดือน ล่วงเข้าวันที่ 12 กันยายน 2543 พนักงานสอบสวน สภ.อ.เชียงใหม่ ก็ขออนุมัติหมายจับแอนดริว หลังจากมีพยานแวดล้อมยืนยันตรงกันหลายคน ก่อนจะจับกุมตัวมาสอบสวนและสรุปสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องส่งให้อัยการพิจารณา ทว่า 2 เดือนให้หลังทุกอย่างก็พลิกผัน เมื่ออัยการจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้ว มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้ความเห็นว่าพยานบุคคลของตำรวจไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ระบุได้ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นอสุจิของแอนดริวไม่ตรงกับที่พบในศพ
แอนดริว เจมส์กิลล์ รอดพ้นข้อกล่าวหา กระนั้นเขาก็ถูกเนรเทศออกจากเมืองไทย เนื่องจากตามแนวทางการสืบสวนของตำรวจสันนิษฐานว่า ก่อนเกิดเหตุแอนดริวพบเห็นการร่วมรักระหว่างนักศึกษาสาวจากเมืองผู้ดีกับชายหนุ่มอีกคนจนเกิดอารมณ์ทางเพศ เมื่อคู่รักชั่วคราวกลับออกจากห้อง เจ้าของเกสต์เฮ้าส์จึงเข้าไปหมายมีอะไรๆ กับเธอ แต่หญิงสาวขัดขืนเลยถูกฆ่าทิ้ง
ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เมื่อแอนดริวกลับประเทศเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อเมืองผู้ดีว่า สาเหตุที่หลุดคดีมาได้เพราะจ่ายเงินไปถึง 1 ล้านบาท ทำเอาวงการยุติธรรมของไทยสั่นสะเทือนอย่างหนัก ทั้งตำรวจและอัยการต่างดาหน้าออกมาปฏิเสธกันวุ่นวาย มีการตั้งกรรมการตรวจสอบกันยกใหญ่ ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าเงินก้อนที่ว่านี้ญาติของแอนดริวส่งมาให้เป็นค่าทนายความ แต่เมียคนไทยกลับยักยอกเก็บไว้ใช้เอง โดยไม่บอกให้สามีทราบ จนเกิดความเข้าใจผิดขึ้น
ถึงแม้ว่าตำรวจไทยจะลบล้างข้อครหาได้ แต่ประเด็นหลักและข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ คนร้ายฆ่า-ข่มขืนคริสตี้ยังคงลอยนวลอยู่ ส่งให้เรื่องนี้ค้างคาใจชาวอังกฤษอยู่เรื่อยมา กระทั่งในวาระครบรอบ 1 ปีการตายของคริสตี้ สื่อเมืองอังกฤษก็นำเสนอข่าวอีกครั้ง พร้อมกับประกาศเตือนสาวอังกฤษที่จะมาเที่ยวเมืองไทยให้ระมัดระวังตัวเป็นประจำทุกๆ ปี
5 ปีให้หลังชะตากรรมคริสตี้ 11 สิงหาคม 2548 เจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย พร้อมด้วย ซู และ แกเรจ โจนส์ มารดากับพี่ชายคริสตี้ เดินทางเข้าพบ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ขณะนั้น) เพื่อขอให้ช่วยติดตามคดีบุตรสาวหลังถูกฆาตกรรมมาครบ 5 ปี แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลยแม้แต่น้อย หลังจากนั้นเวลาก็ล่วงผ่านไปจวบจนปีนี้เข้าปีที่ 9 แล้ว ทุกอย่างก็ยังคงสงบนิ่งหยุดอยู่กับที่ ท่ามกลางแรงกดดันจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวผู้ตาย รัฐบาลอังกฤษ รวมถึงสื่อมวลชนอังกฤษด้วย
เว็บไซต์เดอะการ์เดียน อัลลิมิเต็ด (The Guardian Unlimited) ถึงกับรายงานว่า ตำรวจไทยพยายามรื้อฟื้นคดีตามล่าตัวฆาตกรสังหาร คริสตี้ ซาร่า โจนส์ โดยระบุว่าคดีนี้ที่ผ่านมาดูเหมือนไม่ได้รับความใส่ใจจากทางการเท่าที่ควร และที่ผ่านมาเป็นไปอย่างเชื่องช้า
พ.ต.อ.ยุทธชัย พัวประเสริฐ ผกก.สภ.เมืองเชียงใหม่ ในปัจจุบันซึ่งเป็นหนึ่งในชุดสอบสวนคดีดังกล่าวเมื่อ 9 ปีก่อน ระบุว่า คดีนี้มีอายุความ 20 ปี ปัจจุบันได้โอนสำนวนคดีไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำแล้ว แต่พื้นที่ก็ยังสนับสนุนข้อมูลด้านการสอบสวน ซึ่งที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับตำรวจสากลและตั้งคณะทำงานขึ้นมารื้อคดีดังกล่าวหลายครั้ง แต่ติดขัดเรื่องหลักฐานพยานแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติและปัจจุบันกลับต่างประเทศไปแล้ว
"คดีนี้ตำรวจสอบปากคำพยานไปกว่า 70 ปาก แต่มีข้อจำกัดเรื่องพยานแวดล้อมในที่เกิดเหตุไม่มี จึงเป็นการยากที่จะหาตัวผู้กระทำผิด แต่ตำรวจยังคงติดตามคดีนี้อยู่ หากหลักฐานโยงไปถึงใครก็จะนำตัวมาลงโทษตามกฎหมาย" พ.ต.อ.ยุทธชัย กล่าว
ด้านชุดสืบสวน บช.ภ.5 ซึ่งอยู่ในชุดสืบสวนเมื่อครั้งอดีตด้วย ย้อนความทรงจำว่าครั้งแรกมุ่งไปที่ชาวต่างชาติ 5 คน ผลการตรวจดีเอ็นเอออกมาไม่ชัดเจนว่าไม่ใช่ พยานถูกเรียกตัวมาสอบปากคำซ้ำ ยกเว้น แอนดริว เจมส์กิลล์ ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาและหลุดพ้นในเวลาต่อมา กระทั่งหลักฐานดีเอ็นเอที่ตรวจร่วมกันระหว่างอังกฤษกับไทย ซึ่งได้มาจากตัวอย่าวผิวหนังและน้ำอสุจิในที่เกิดเหตุบ่งบอกได้ว่า คนร้ายเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่น่าเสียดายที่หลักฐานเหล่านี้ไม่ได้มีการตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้น ทิ้งระยะห่างตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงการพิจารณาคดียิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งยากเท่านั้น พยานที่เกี่ยวข้องก็อาจจำความไม่ได้แล้ว เพราะล่วงเลยมานาน
แม้ว่าจะผ่านมานาน 9 ปีแล้วก็ตาม แม่ของคริสตี้ก็ยังเดินทางกลับมาไว้อาลัยลูกสาวในวันที่ 11 สิงหาคมของทุกปี และเฝ้ารอว่าเมื่อไรทางการไทยจะลากคอฆาตกรรายนี้มาลงทัณฑ์ได้
ความตายของ คริสตี้ ซาร่า โจนส์ ส่งผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ในเมื่อทางการไทยไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ ครอบครัวผู้ตายมีการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนอังกฤษ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลด้วย เช่น เดือนตุลาคม 2548 เมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบนายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็มีการหยิบยกเอาประเด็นนี้มาหารือด้วย จากนั้นก็มีการส่งหนังสือทวงถามมาเป็นระยะๆ ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2552 ทันทีที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เรียก พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วย ผบ.ตร.เข้าพบและสั่งการให้ดูแลรับผิดชอบคดีนี้ พร้อมกับเร่งรัดให้คลี่คลายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกหลายคดี