
“เพชรหึง”ถอนพิษ-บำรุงกำลัง!
โดย - นายสวีสอง
ที่บ้านต่างจังหวัดจำได้ว่าเมื่อก่อนหากบ้านไหนเกิดอาการไข้ตัวร้อนจะเอาต้น “ว่านเพชรหึง” หรือ “ว่านหางช้าง” มาหั่นเป็นแว่นหรือทุบทั้งต้นใส่กะละมัง ใส่น้ำให้เต็มแล้วเอาน้ำมารดศีรษะจะถอนพิษร้อนได้ ทั้งตำให้ละเอียดโปะลงบนแผลถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยได้ผลชะงัด ดองกับสุราดื่มขับลมในลำไส้ เป็นต้น
เป็นไม้เถาเลื้อยอิงอาศัย ชื่อวิทยาศาสตร์ Grammatophyllum speciosum Blume จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ ORCHIDACEAR มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ กล้วยกา กะดำพะนาย ตับตาน ว่านหางช้าง ว่านงูเหลือม เอื้องพร้าว เป็นต้น พบได้ตามป่าดิบชื้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และทางภาคใต้
ลำต้น กลม เป็นกอใหญ่สูงถึง 2.5 เมตร มีรากที่โคนแข็งมาก มักพบทางภาคใต้ของไทย ปัจจุบันมีคนนำปลูกลงกระถางทำเป็นไม้ประดับ
ใบ เป็นใบเดี่ยว ทรงรียาว โคนใบสอบ ปลายแหลม ขอบเป็นคลื่น มีเส้นกลางใบ 10-15 คู่
ดอก ในหนังสือ “108 ว่านมหัสจรรย์” เล่ม 3 บอกว่า คล้ายกับหัวงู ไหวตัวส่ายไปมาได้
ผล มีพู 3 พู รูปร่างยาว ผลเมื่อแก่แห้งจะแตกออกเป็นกลีบ 3 กลีบ ภายในผลมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก และจะปลิวไปตามลม
ขยายพันธุ์ ตัดลำต้นส่วนใดก็ได้ แต่ต้องให้มีรากติดมาด้วย แล้วปลูกจะงอกงามดีทีเดียว
สรรพคุณว่านเพชรหึง :
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้ลำต้นกับก้านใบนำมาหั้นบางๆ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาใส่โหลดองกับเหล้าไว้ดื่ม
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ใช้สูตรเดียวกับยาอายุวัฒนะ) (ลำต้น,ก้านใบ)
- ช่วยขับลมในลำไส้ (ใช้สูตรเดียวกับยาอายุวัฒนะ) (ลำต้น,ก้านใบ)
- ใช้ลำต้นตำผสมเหล้าเอาน้ำมากิน ส่วนกากที่เหลือเอามาใช้พอกปากแผล
- สรรพคุณมีฤทธิ์เป็นยาเย็นช่วยถอนพิษ แก้อาการอักเสบเนื่องจากถูกงูกัด ช่วยแก้พิษงูกัด พิษตะขาบ และพิษแมงป่องต่อย
- ช่วยรักษาอาการผื่นคันมีน้ำเหลือง
- ลำต้นใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวใช้ทาพอกรักษาฝี
แหล่งที่มาข้อมูล : อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.“ว่านเพชรหึง“ : www.pharmacy.mahidol.ac.th.(6 ธ.ค. 2013) ,ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.“ว่านเพชรหึง“ : www.qsbg.org. (6 ธ.ค. 2013)