ข่าว

กทม.ระดมจนท.-เหยื่อล่อล้างบาง“เหี้ย”พ้นสวนลุมฯ

กทม.ระดมจนท.-เหยื่อล่อล้างบาง“เหี้ย”พ้นสวนลุมฯ

20 ก.ย. 2559

เหตุ " เหี้ย" ทำลายระบบนิเวศน์- วิ่งตัดหน้าจักรยานประชาชน

 

           เมื่อวันที่20ก.ย.เวลา09.00น.ที่สวนลุมพินี นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร(กทม.)นำเจ้าหน้าที่12นายลงพื้นที่จับตัวเงินตัวทองที่สวนลุมพินีโดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่จับและนำตัวเหี้ยไปส่งที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนจ.ราชบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ทางธรรมชาติที่มีระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์มีพื้นที่กว่า1,000ไร่สามารถรองรับสัตว์ต่างๆได้จำนวนมากซึ่งก่อนหน้านี้กทม.ได้จับตัวเงินตัวทองนำไปปล่อยแล้ว2ครั้งจำนวน87ตัวโดยในวันนี้ตั้งเป้าจับให้ได้40ตัว

            นางสุวรรณา กล่าวว่า สวนลุมพินีเป็นพื้นที่ใหญ่มีพื้นน้ำ20เปอร์เซ็นต์เป็นแหล่งที่อยู่ของตัวเงินตัวทองโดยสำรวจเบื้องต้นมีประมาณ400ตัวกระจายอยู่ในบึงน้ำในพื้นที่สวนลุมทั้ง5แห่งในบริเวณบึงน้ำรอบเกาะลอยประมาณ50ตัวบริเวณริมรั้วตามแนวคลองน้ำถนนพระรามสี่ประมาณ60ตัว บริเวณสะพานลอยสวนปาล์มประมาณ30ตัว บริเวณริมคลองน้ำถนนวิทยุประมาณ40ตัวและบริเวณสะพานหอนาฬิกาประมาณ30ตัวโดยตัวเหี้ยที่ออกมาเดินส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มไวขนาดใหญ่สุด3เมตรทำให้ประชนบางส่วนตกใจแต่ยังไม่มีเหตุทำร้ายใครมีแต่ไปวิ่งตัดจักรยานของประชาชนบางครั้งแต่จากการที่ระบบนิเวศน์ในสวนลุมพินีที่สมบูรณ์ทำให้ตัวเงินตัวทองทำลายระบบนิเวศน์ภายในสวนลุมพินีสร้างความเสียหายให้กับแปลงปลูกต้นไม้และทำลายตลิ่งหรือบางครั้งสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่มาออกกำลังกาย

             “ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้สังคมหลายคำถามทำให้สำนักสิ่งแวดล้อมคำนึงสิ่งที่เราจะทำเพราะการดำเนินการครั้งนี้ต้องผ่านเจ้าของที่ดูแลกฎหมายคือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยกทม.จะต้องพิจารณาตามหลักวิชาการและหารือกับนักวิชาการเพื่อร่วมกันพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งเรื่องจำนวนและวิธีการดูแลแต่กทม.ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานและยังไม่ได้มีการศึกษาถึงจำนวนตัวเงินตัวทองที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สวนลุมว่าควรจะมีไม่เกินกี่ตัวแต่เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน กทม.ก็ต้องดำเนินการในเบื้องต้น คือ การจับตัวเงินตัวทองออกบางส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย แต่อย่างไรมันก็ต้องเหลือบ้างอยู่แล้ว ไม่มีทางที่จะจับหมด”นางสุวรรณากล่าว

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง12นายได้ใช้ไม้คล้องบ่วงซึ่งเป็นอุปกรณ์จับสัตว์เลื้อยคลาน กระสอบเชือกมาใช้จับเหี้ยในครั้งนี้โดยใช้ปลาดุกอุยเป็นๆเป็นสัตว์ล่อโดยเจ้าหน้าที่ต่างระบุว่า“มันจับยากเพราะแรงเยอะไม่รู้จะจับได้กี่ตัว”อย่างไรก็ตามก่อนการลงพื้นที่จับเหี้ยในเช้าวันนี้มีประชาชนที่สนใจเข้ามาสังเกตการณ์เป็นระยะโดยมีประชาชนบางส่วนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า“ไม่น่าไปจับมัน สงสาร มันไม่ได้ขโมยของใคร จับทำไม”ขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนไทยและสำนักข่าวต่างประเทศเดินทางมาทำข่าวเป็นจำนวนมาก จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังโอบล้อมบ่อน้ำจุดหนึ่งในสวนลุมพินีโดยพยายามใช้ปลาดุกผูกเชือกโยนลงไปในบ่อซึ่งพบว่ามีตัวเหี้ยบางตัวว่ายน้ำลอยคอรับลมอยู่บนผิวน้ำอย่างสบายใจไม่ยอมเข้ามาใกล้เหยื่อล่อที่เจ้าหน้าที่โยนไว้อยู่ข้างตลิ่งซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าครั้งนี้จับยากเพราะมีคนมามุงเป็นจำนวนมาก

             กระทั่งเวลา10.25ได้รับแจ้งว่าสามารถจับเหี้ยตัวแรก สำเร็จโดยสื่อมวลชนได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่สามารถจับตัวเหี้ยได้ตัวแรกอยู่ด้านหอนาฬิกาซึ่งอยู่อีกฝั่งของสวนลุมพินีทำให้สื่อมวลชนต้องรีบวิ่งไปดูการจับตัวเหี้ยทันทีโดยมีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนต้องยุติการจับตัวเหี้ยชั่วคราว แต่จากนั้นเมื่อฝนตกน้อยลงเจ้าหน้าที่ได้เริ่มการจบตัวเหี้ยอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้ต้อนตัวเหี้ยบริเวณริมบึงฝั่งถนนพระสี่ซึ่งในจุดนี้เป็นจุดที่มีความสมบูรณ์ของสวนสาธารณะมีหญ้าปกคลุมและต้นไม้สูงอยู่รอบพื้นที่โดยในจุดนั้น เจ้าหน้าที่สามารถจับเหี้ยได้ประมาณในช่วงเช้าวันนี้แล้ว17ตัวซึ่งแต่ละตัวมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า10กิโลกรัม โดยเมื่อเจ้าหน้าที่จับเหี้ยได้จะนำไปมัดปากและจับขาผูกเชือกมือไว้ทีด้านหลังก่อนที่จะนำไปใส่กระสอบป่านอุ้มไปไว้ที่ด้านหลังรถกระบะที่เตรียมไว้ขนย้ายออกจากสวนลุมต่อไป

             ด้านนายนิพนธ์ บุญญภัทโร รองประธานบริหารมูลนิธิเรารักสวนลุมพินีและอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า“ผมมาปั่นจักรยานในสวนลุมฯเป็นเวลาไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการในครั้งนี้เพราะตัวเหี้ยไม่เคยทำร้ายใคร มันเป็นเพื่อนกับเจ้าหน้าที่ทุกคนในสวนลุมฯตั้งแต่ยามไปจนถึงแม่ค้าไม่เข้าใจว่าเป็นนโยบายอะไรที่ต้องทำถึงขนาดนี้ กทม.มีงานอื่นให้ทำตั้งมากมายมาเสียเวลากับตัวเหี้ยกันทำไม”

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวเงินตัวทองถือเป็นสัตว์เลื้อยคลานซึ่งมีอายุเฉลี่ยประมาณ15-20ปีโดยส่วนใหญ่จะกินเศษซากสัตว์เป็นอาหารซึ่งการผสมพันธุ์จะออกลูกเป็นไข่คราวละ15-20ฟองและใช้เวลาฟัก45-50วันโดยจะวางไข่ในปลายฤดูร้อนต่อเนื่องฤดูฝน ซึ่งตัวเงินตัวทองจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีจึงทำให้อาศัยอยู่ได้หลายๆพื้นที่ทั้งตามท่อน้ำและพื้นที่ต่างๆซึ่งในกรุงเทพฯเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญจากตัวเงินตัวทองที่ประชาชนแจ้งมายังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.)จำนวนมากโดยได้สรุปสถิติการจับตัวเงินตัวทองในปี2558จับได้2,831ตัว ปี2559ตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค.จับได้2,673ตัว