ข่าว

กทม. เร่งเก็บผักตบชวา เปิดทางน้ำไหล-รับมือฝนถล่ม

กทม. เร่งเก็บผักตบชวา เปิดทางน้ำไหล-รับมือฝนถล่ม

13 ก.ย. 2559

กทม.ระดมจนท.เร่งเก็บผักตบชวา เปิดทางน้ำไหล-รับมือฝนถล่ม แนะคนกรุงช่วยกำจัด-ห้ามทิ้งขยะลงคลอง

          13 ก.ย.59 -- นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้กทม.มีคู คลอง ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบจำนวนทั้งสิ้น 1,682 คลอง ความยาวรวมกว่า 2,604 กิโลเมตร สำนักการระบายน้ำจึงได้ดำเนินการขุดลอก เปิดทางน้ำไหล เก็บขยะวัชพืช ผักตบชวา เป็นประจำทุกปี เพื่อรองรับการระบายน้ำในคลองเมื่อมีฝนตก แต่ขณะนี้พบว่า คูคลองต่างๆ มีผักตบชวาเติบโตและแพร่กระจายเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตต่างๆ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ลงพื้นที่เพื่อกำจัดผักตบชวา รวมถึงขยะต่างๆเป็นประจำทุกวัน โดยคลองที่มีความยาวไม่มากจะสามารถเก็บขยะได้วันละ 2 เที่ยว อาทิ คลองภาษีเจริญ ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี       

          นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนคลองที่เป็นคลองต่อเนื่องมีระยะทางไกลมากกว่า 20 กิโลเมตร อาทิ คลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน คลองสนามชัย จะสามารถจัดเก็บได้วันละ 1 เที่ยว แต่พบว่าผักตบชวาเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยผักตบชวาจำนวน 500 กรัมต่อตารางเมตร สามารถเติบโตและขยายพันธุ์ได้ถึง 40,580 กรัมต่อตารางเมตร ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน สำนักการระบายน้ำจึงกำหนดรอบของการจัดเก็บตามแผนปฏิบัติงานถี่ขึ้น แต่เนื่องจากคลองบางส่วนต่อเนื่องกับคลองภายนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น อาทิ กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ และบางส่วนต่อเนื่องกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกทม.ไม่สามารถปิดกั้นประตูระบายน้ำไม่ให้ผักตบชวาไหลเข้ามาได้ เนื่องจากต้องมีการถ่ายเทน้ำ และเพื่อการสัญจรทางเรือ ทำให้มีผักตบชวาคงค้างในบางพื้นที่      

          นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สำนักการระบายน้ำจะเตรียมมาตรการอื่นไว้รองรับ อาทิ การติดตั้งจุดสกัดผักตบชวาเป็นระยะ การขุดลอกคูคลองที่ตันเพื่อเปิดทางน้ำไหลให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก เพราะผักตบชวาจะเติบโตได้ยากในพื้นที่ที่น้ำไหลแรง ติดตั้งตะแกรงเก็บขยะอัตโนมัติหรือเครื่องบีบอัดขยะบริเวณหน้าสถานีสูบน้ำหรือคลองที่มีผักตบชวาหนาแน่น รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่รับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคลองรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯและปริมณฑล ต่อเนื่องถึงแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งสำคัญต้องขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดผักตบชวาจากแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงการไม่ทิ้งขยะต่างๆลงในแม่น้ำคูคลองด้วย       

          ด้านนางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยว่า สำหรับการจัดเก็บขยะและผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. ได้จัดเก็บทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. แบ่งการจัดเก็บเป็น 3 โซน โดยโซนบน ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพุทธฯ ความยาวประมาณ 10.15 กิโลเมตร ขนถ่ายมูลฝอยและวัชพืชที่บริเวณใต้สะพานอรุณอัมรินทร์ โซนกลาง ตั้งแต่สะพานพุทธฯ ถึงสะพานกรุงเทพฯ ความยาวประมาณ 6.30 กิโลเมตร ขนถ่ายมูลฝอยและวัชพืชที่บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง สะพานพุทธฯและโซนล่าง ตั้งแต่สะพานกรุงเทพฯ จนถึงสุดเขตบางนา ความยาวประมาณ 16.80 กิโลเมตร ขนถ่ายมูลฝอยและวัชพืชบริเวณท่าน้ำใต้สะพานพระราม 9 (สวนสาธารณะ) ทั้งนี้ขยะและวัชพืชที่จัดเก็บได้จะนำไปส่งที่โรงกำจัดขยะอ่อนนุชและหนองแขม        

          “ ส่วนในวันที่ 20 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต เตรียมจัดกิจกรรม Clean up the World และกิจกรรม “คนกรุงเทพฯ รวมใจอนุรักษ์ และพัฒนาคลองสวย น้ำใส ไร้ขยะ” เนื่องในสัปดาห์อนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ ในวันที่ 19-23 ก.ย.2559 โดยจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะและผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสำคัญในพื้นที่ของแต่ละเขต รวมทั้งสิ้น 50 คลอง ” นางสุวรรณา กล่าว