ข่าว

ร่วมฟื้นฟูประชากร“ม้าน้ำ”สนอง“ไซเตส”-ป้องสูญพันธุ์!

ร่วมฟื้นฟูประชากร“ม้าน้ำ”สนอง“ไซเตส”-ป้องสูญพันธุ์!

11 ก.ย. 2559

โดย - เม่นแคระ

        จากผลการทบทวนสถานภาพการค้าสัตว์ในบัญชี 2 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) เพื่อการปรับปรุงการจัดการด้านการค้าให้มีความยั่งยืน ซึ่งผลการทบทวนที่ว่านี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกม้าน้ำมากที่สุด การค้าม้าน้ำของไทยจึงถูกจัดอยู่ในระดับน่าห่วงใยอย่างเร่งด่วน (Urgent Concern) โดยเฉพาะม้าน้ำ 3 ชนิด ได้แก่ ม้าน้ำดำ ม้าน้ำยักษ์ และม้าน้ำหนาม

 

ร่วมฟื้นฟูประชากร“ม้าน้ำ”สนอง“ไซเตส”-ป้องสูญพันธุ์!

 

        เมื่อเป็นเช่นนี้ นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง จึงเปิดแถลงข่าวเปิดโครงการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ณ กรมอุทยานฯ กรุงเทพฯ มีนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานฯ ร่วมด้วยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

       “ในฐานะที่กรมประมง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสัตว์น้ำ ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการและวิทยาการของไซเตส ด้านสัตว์น้ำของประเทศไทย ได้ตระหนักในความห่วงใยของไซเตสมาตลอด ผลการทบทวนสถานภาพการค้าสัตว์ในบัญชี 2 ของอนุสัญญา ที่ชี้ให้เห็นว่าไทยเราเป็นประเทศที่ส่งออกม้าน้ำมากที่สุด การค้าม้าน้ำของไทยถูกจัดอยู่ในระดับน่าห่วงใยอย่างเร่งด่วน (Urgent Concern)

 

ร่วมฟื้นฟูประชากร“ม้าน้ำ”สนอง“ไซเตส”-ป้องสูญพันธุ์!

 

        ทำให้กรมประมงได้เร่งศึกษาข้อมูลชีววิทยา แหล่งแพร่กระจายพันธุ์ม้าน้ำ แหล่งที่มีประชากรหนาแน่นในธรรมชาติ ด้วยการส่งเรือสำรวจแหล่งประชากรม้าน้ำในอ่าวไทยและอันดามัน ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล กระทั่ง ทราบชนิดของม้าน้ำที่แพร่กระจายในน่านน้ำไทย และสามารถคำนวณปริมาณม้าน้ำในธรรมชาติของไทยได้” รองอธิบดีกรมประมง แจง

       ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกรมประมง มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลแหล่งแพร่กระจายพันธุ์หนาแน่นของม้าน้ำ ชีววิทยาของม้าน้ำบางประการ เป็นฐานข้อมูลที่มาของการเลือกพื้นที่ใช้ในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หาดเจ้าไหม จ.ตรัง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด

       จากผลการศึกษาพบว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อจำนวนม้าน้ำในธรรมชาติมากกว่าปัจจัยด้านคุณภาพของแหล่งที่อยู่อาศัย ดังนั้น การอนุรักษ์ม้าน้ำจึงต้องหันมาจัดการกับพฤติกรรมของมนุษย์ และปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การสนับสนุนให้ชาวประมงปล่อยม้าน้ำสู่ทะเล หรือเลือกจับเฉพาะม้าน้ำที่ใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร เพื่อให้มีโอกาสคลอดลูกอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนถูกนำมาใช้ประโยชน์

 

ร่วมฟื้นฟูประชากร“ม้าน้ำ”สนอง“ไซเตส”-ป้องสูญพันธุ์!

 

       รองอธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า เพื่อสนับสนุนผลการศึกษาในโครงการฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในธรรมชาติ จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวประมงทุกภาคส่วน “ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูม้าน้ำได้ด้วยมือเรา” ซึ่งจะนำร่อง ณ หาดหยงลำ และเกาะมุก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง โดยจะเชิญ รมว.ทรัพยากรฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรมว.พาณิชย์ สำนักงานเลขาธิการไซเตส เอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ร่วมปล่อยม้าน้ำที่กรมประมงได้เพาะพันธุ์ โดยเป็นม้าน้ำดำ จำนวน 100 ตัว ในวันที่ 17 กันยายน ศกนี้

        “เราคาดหวังว่าในวันเปิดโครงการฯ จะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ยืนยันว่าเราไม่ได้ละเลยต่อปัญหาการลดลงของม้าน้ำ และมุ่งมั่นในการแก้ปัญหานี้ร่วมกันอย่างจริงจัง”รองอธิบดีกรมประมง แจง