ข่าว

จากบนดินสู่‘คอมมูนิตี้มอลล์’ไก่ย่างพระราม9ยุคลูกบริหาร

จากบนดินสู่‘คอมมูนิตี้มอลล์’ไก่ย่างพระราม9ยุคลูกบริหาร

10 ก.ย. 2559

จากบนดินสู่‘คอมมูนิตี้มอลล์’ไก่ย่างพระราม9ยุคลูกบริหาร : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยดลมนัส กาเจ

              ท่ามกลางกระแสการแข่งขันธุรกิจไก่ย่างทั้งที่เป็นแบรนด์ดังไม่ว่าจะเป็นเอสเอฟ ตำรับเขาสวนกวาง ที่มีนับร้อยสาขา ไก่ย่างโคราช ไก่ย่างนิตยา ไก่ย่างจีระพันธ์ และแบรนด์ท้องถิ่นที่คุ้นหูของนักบริโภคที่ขายเกลื่อนริมถนน อาทิ เขาสวนกวาง วิเชียรบุรี แต่ในมุมของคนรุ่นใหม่อย่าง “พลอย” หรือ “ชนิลเนตร ต่อสหะกุล” ทายาทรุ่นที่ 1 ของเฮียสุเมธ “สุเมธ ต่อสหะกุล” ผู้บุกเบิก “ไก่ย่างพระราม 9” ที่มีต้นกำเนิดย่านถนนพระราม 9 ตัดใหม่ ซอย 39 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ กลับมองว่า คนรุ่นใหม่นิยมนั่งบริโภคอาหารตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้าชุมชนหรือคอมมูนิตี้มอลล์ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีห้องแอร์มากกว่า

              ในที่สุดจึงขอแยกตัวจากผู้เป็นพ่อ เปิดร้านไก่ย่างพระราม 9 เอง ที่ห้างสรรพสินค้าสไตล์คอมมูนิตี้มอลล์ “เดอะแจส” ย่านปากซอยลาดปลาเค้า ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า กลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้าไปใช้บริการมากที่สุดของห้างแห่งนี้ ตกวันละกว่า 400 คน ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม เธอตัดสินใจขยายสาขาใหม่อีกบนชั้น 3 ห้างสรรพสินค้า “เดอะพรอมานาด” ติดกับห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ และมั่นใจว่าจะมีลูกค้าเข้าอุดหนุนไม่น้อยกว่าที่เดอะแจส อย่างแน่นอน

              “ห้างสรรพสินค้ากลายเป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ทั้งที่เดินเล่น ซื้อสินค้า หาอาหารกิน แต่บนห้างพลอยเห็นว่ามีแต่อาหารจำพวกสุกี้ ฟาสต์ฟู้ด เคเอฟซี ไม่ค่อยมีไก่ย่าง หรืออาหารอีสาน ซึ่งทุกวันนี้ไก่ย่าง ลาบ ส้มตำ ไม่ใช่นิยมเฉพาะคนอีสาน แต่นิยมทุกภาค กลายเป็นอาหารค่อนข้างจะสากลไปแล้ว แม้แต่ฝรั่งก็กิน พลอยมั่นใจในแบรนด์ไก่ย่างพระราม 9 ของคุณพ่อว่าต้องขายได้ สังเกตที่ร้านแรกที่ถนนพระราม 9 คนแน่นทุกวัน ลูกค้ายอมรับในรสชาติและคุณภาพของอาหาร แต่วัยรุ่นคนรุ่นใหม่ชอบนั่งห้องแอร์ พลอยตัดสินใจลงทุนไปกว่า 3 ล้านบาท เปิดร้านที่เดอะแจส ปรากฏว่าลูกค้าเต็มทุกวัน” ชนิลเนตร กล่าว

              ก่อนที่ชนิลเนตร จะแยกไปเปิดร้านเองที่เดอะแจส เธอเล่าว่า หลังจากที่เรียนจบปริญญาโทคณะวิทยาศาสตร์โภชนาการ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ไปช่วยงานคุณพ่อที่ร้านไก่ย่างพระราม 9 มาดูแลด้านอาหารให้ถูกสุขอนามัย ด้านรสชาติที่ถูกตามหลักโภชนาการ เห็นว่าร้านพระราม 9 อยู่ตัวและลูกค้าหนาแน่นอยู่แล้ว จึงขอแยกตัวเปิดร้านเอง ช่วยกันบริหารกับแฟน "พลวสันต์ เตียวสมบูรณ์กิจ" แต่ใช้ชื่อร้านไก่ย่างพระราม 9 ของคุณพ่อ เพราะสูตรเดียวกัน อาหารลักษณะเดียวกัน เพียงแต่แยกบริหารเท่านั้น

              “ของคุณพ่อบริหารร้านบนดิน บริการลูกค้าทั่วไป มีลูกค้าประจำ ทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ของพลอยบริหารบนห้าง ลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่ชอบห้องแอร์ กลุ่มลูกค้าคนละกลุ่ม หลังจากที่แยกออกมาแล้ว ทั้งร้านบนดินของคุณพ่อแขกเต็มเหมือนเดิม ร้านใหม่ของพลอยคนก็เต็มทุกวัน พลอยกล้าพูดได้ว่าที่เดอะแจสนั้น ปกติลูกค้าไม่มากนัก ลูกค้าที่เยอะที่สุดคือคนที่มารับประทานอาหารที่ร้านไก่ย่างพระราม 9 ของพลอยนี่แหละ ร้านของพลอยไม่ใหญ่คนนั่งได้ถ้าเต็มร้านจะได้ราวกว่า 50 คน แต่มีคนเข้าคนออกทั้งวัน ทำให้ลูกค้าหมุนเวียนวันละกว่า 400 คน ในจำนวนนี้พบว่าต่างชาติที่ชอบไก่ย่างและส้มตำด้วย” พลอยยืนยัน

              จากความสำเร็จในการบริหารร้านที่เดอะแจส ทั้งชนิลเนตร และพลวสันต์ ปรึกษาคุณพ่อ ลงทุนกว่า 4 ล้านบาท ขยายสาขาไปที่เดอะพรอมานาด ปรากฏว่ามีลูกค้าแน่นทุกวันเช่นกัน โดยทั้ง 2 ร้านทั้งที่เดอะแจส และเดอะพรอมนาด พลอยแบ่งกันดูแลกับแฟน คือพลอยจะดูแลในครัวทั้งหมดเป็นหลัก ส่วนแฟนจะดูหน้าร้าน หลังจากที่ประเมินกันแล้วมองว่าไก่ย่างพระราม 9 ยังมาสารถขยายสาขาได้อีก หลังจากเก็บเงินทุนได้แล้ววางเป้าว่าอาจจะหาห้างสรรพสินค้าย่านถนนศรีนครินทร์ หรือบางนา-ตราด ที่อาจจะขยายสาขาบนห้างสรรพสินค้าต่อไป

              “ชนิลเนตร ต่อสหะกุล” นับเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถมองฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ด้วยกันอย่างทะลุปรุโปร่ง ทำให้การบริหารร้านไก่ย่างพระราม 9 บนห้างทั้งที่เดอะแจส และเดอะพรอมานาด ประสบผลสำเร็จงดงามได้ในวันนี้
 
              วันแรกไก่ 17 ตัวสู่ร้านชื่อดัง
 
              สุเมธ ต่อสหะกุล ผู้บุกเบิกไก่ย่างพระราม 9 เล่าที่มาก่อนถึงวันนี้ว่า ชีวิตประสบมรสุมเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 ทำให้โครงการบ้านจัดสรร “อุดรโกลเด้นวิว” ที่กำลังดำเนินการอยู่ย่านถนนสายอุดรธานี-เลย อ.เมือง จ.อุดรธานี กว่า 300 ยูนิต ที่ขายหมดแล้ว ปรากฏว่าสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า บ้านลูกค้าจองจนหมดแล้วไม่สามารถโอนได้ จนลูกค้ายกเลิกทั้งหมด ทำให้ขาดทุนหลายร้อยล้านบาทถึงขนาดสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องกลับมาอยู่กรุงเทพฯ อย่างคนหมดความหวัง คิดไม่ออกว่าชีวิตจะเดินไปทางไหนต่อ

              “มีเพื่อนคนหนึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน เปิดร้านหมูย่างเกาหลี ผมไปนั่งคุยทุกวัน เหมือนกับหน้าม้า เพราะว่างไม่รู้จะไปไหน มีวันหนึ่งขับรถไปกับเพื่อนหิวข้าวมาก เห็นไก่ย่างขายริมถนนแวะซื้อกินในรถ รสชาติไม่ได้เรื่อง แต่มีคนซื้อเต็มไปหมด เลยคิดว่าไก่ย่างที่อุดรฯ อร่อยกว่าหลายเท่า ถ้ามาขายบ้างน่าจะมีคนซื้อกิน จึงตัดสินใจไปอุดรฯ อีกครั้งเพื่อเรียนรู้สูตรการหมักไก่ย่างและน้ำจิ้ม พอได้สูตรมาชวนเพื่อนตระเวนหาทำเลหลายแห่ง ไปพบที่ถนนพระราม 9 ตัดใหม่ ตอนนั้นถนนสายนี้เพิ่งตัดใหม่ มีแต่ป่า พอดีมีที่ของคนที่รู้จักกัน มีต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น เลยคิดว่ามีร่มเงา ไม่ต้องใช้ร่มกาง น่าจะขายไก่ย่างได้ จึงไปขอที่เพื่อขายไก่ย่างโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า หุ้นกับเพื่อนขายไก่ย่าง ตอนนั้นเป็นช่วงต้นปี 2543 เรามีเตาอังโล่ 2 อัน มีดอีโต้ 1 ด้าม เคียงสับไก่ 1 อันเท่านั้น” สุเมธย้อนอดีต

              สุเมธ บอกว่า การขายไก่ย่างวันแรกขายได้ 17 ตัว ขายไก่ย่างอย่างเดียว ไม่มีโต๊ะเน้นซื้อกลับไปบ้าน และวันต่อมายอดขายอยู่ที่ราว 20 ตัว เพื่อนบอกว่ามองไม่เห็นอนาคต ขายได้เดือนครึ่ง เพื่อนขอตัวไปทำอาชีพอื่นต้องมานั่งขายคนเดียว พอเพื่อนไปไม่ถึงอาทิตย์ ปรากฏว่า ลูกค้าหลั่งไหลเข้ามา ขายได้วันละถึง 70 ตัว ต้องให้ภรรยามาช่วย แล้วขยายเป็นเตาย่างมาตรฐานขึ้น จนมีลูกค้าบ่นว่า น่าจะมีโต๊ะบ้าง เพราะบ้างครั้งต้องการรับประทานไก่ร้อนๆ เลยสร้างซุ้มขึ้นมา มีโต๊ะ 3 ชุดในปลายปี 2543 หลังจากนั้นลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีบางคนบอกว่าน่าจะมีส้มตำบ้าง เลยให้ภรรยาฝึกตำส้มไทย ตอนแรกซื้อไก่แถมส้มตำด้วย ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากลูกค้ามากขึ้น

              “คนกินก็แปลก แต่ผลดีกับเรา พอมีส้มตำ จะให้มีลาบ มีก้อย จึงตัดสินใจสร้างอาคารมาตรฐานขึ้นมา 1 หลัง พร้อมขยายอาหารเพิ่มขึ้นในปี 2545 จนลูกค้าเพิ่มเรื่อยๆ ต้องสร้างอาคารเพิ่มขึ้น ต้องจ้างเด็กมาเสิร์ฟอาหาร คนช่วยทำครัว ขยายมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้มีอาคารทั้งหมด 5 อาคารมาตรฐาน กว่า 100 โต๊ะ ในพื้นที่ 1 ไร่กับ 200 ตารางวา มีอาหารอีสานทุกอย่าง เปิดตั้งแต่เวลา 10.00-20.30 น. จะมีลูกค้าทุกวันเฉลี่ยวันละ 700-800 คน” สุเมธ กล่าว