ข่าว

ทายาท‘เจ้เล้ง’รุกธุรกิจออนไลน์

ทายาท‘เจ้เล้ง’รุกธุรกิจออนไลน์

03 ก.ย. 2559

ทายาท‘เจ้เล้ง’รุกธุรกิจออนไลน์ : คมคิดธุรกิจนิวเจน สินีพร มฤคพิทักษ์/เรื่อง - ภาพ - ภัทรานิษฐ์ ลาภชีวะสิทธิฉัตร  

             เอ่ยชื่อ‘ร้านเจ้เล้ง’น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก โดยเฉพาะสาวๆ

             เชื่อหรือไม่ว่าปีนี้ อารียฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล หรือ เจ้เล้ง อายุครบ 70 ปีแล้ว แต่ยังสนุกสนานกับการทำงาน โดยมี ภัทรานิษฐ์ ลาภชีวะสิทธิฉัตร หรือ ซิน ทายาทคนที่สาม เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ โดยรับผิดชอบการนำเข้าสินค้า และขยายตลาดออนไลน์ ซึ่งทางร้านเพิ่งเริ่มได้สองปี มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ

             ภัทรานิษฐ์ เรียนจบปริญญาตรี สาขา Visual Art จาก Pine Manor College, Massachusetts และกำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขา marketing and management ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

             เจ้เล้งให้โจทย์อะไรบ้างไหม? ซินตอบว่า ไม่มี ให้ทำเองหมด ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ไม่เคยจับงานธุรกิจออนไลน์มาก่อนเลย แต่รู้ว่าถึงเวลาต้องทำ ก็ลองดู ยอดขายปีนี้ถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งบางวันไม่มีออเดอร์ออนไลน์เลย แต่ปีนี้มีวันละ 90-100 ออเดอร์

             “เดิมจับทางไม่ถูก เราอาจเจาะตลาดเด็กเกินไป ขณะที่ลูกค้าร้านเราเป็นครอบครัว กลุ่มคนมีอายุนิดหนึ่ง ไม่ใช่วัยรุ่นจัด ปีก่อนๆ เราเจาะจงว่าต้องมีนั่นมีนี่ตามเทรนด์ แต่ลืมดูว่าทาร์เก็ตกรุ๊ปเราคือใคร”

             หากคลิกเข้าไปในเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ จะเห็นว่าใช้ภาษาเรียบๆ ไม่หวือหวา ซึ่งทายาทเจ้เล้งตอบว่า “เราบ้านๆ เลย เป็นตัวของตัวเองค่ะ” และว่า

             จากประสบการณ์ที่ทำตลาดในสังคมออนไลน์มาสักพักพบว่า คนไทยยังชอบให้มีคนคุยด้วย การขายผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ กับเฟซบุ๊ก ดีกว่าขายผ่านเว็บไซต์

             “หากเป็นเว็บลูกค้าไม่ได้โต้ตอบกับเรา เรามีคนตอบเฟซบุ๊กสามสี่คน เวลามีคนถามหรือปรึกษา เราให้พนักงานที่ขายสินค้านั้นๆ เป็นคนตอบโดยตรง สมมุติมีคนถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เรฟลอน เราก็เอาโทรศัพท์ไปให้คนดูแลผลิตภัณฑ์เรฟลอนตอบคำถามลูกค้า”

             ส่วนการนำเข้าสินค้าดูตามเทรนด์ตอนนี้คนสนใจอะไร จากต่างประเทศ และเว็บไซต์ ในช่วงที่คนไทยยังกำลังสนุกกับเกม ‘โปเกมอน โก’ ผู้บริหารร้านเจ้เล้งจึงมีแผนว่าจะให้เจ้าของลิขสิทธิ์นำเจ้าโปเกมอนมาปล่อยในร้านช่วงที่จัดโปรโมชั่นด้วย แบบว่าระหว่างรอคุณแม่หรือแฟนช็อปปิ้ง ก็เดินตามล่าโปเกมอนไปพลางๆ จะได้มีกิจกรรมทำทั้งสองฝ่าย

             “เป็นกิมมิคเล็กๆ ตามเทรนด์ ต้องดูเงื่อนไขอีกที เรารู้ว่ามีอยู่ในร้านเพราะส่วนตัวก็โหลดมาเล่นเหมือนกัน”

             ซิน บอกว่า มาช่วยงานทางร้าน 5 ปีแล้ว เป็นการเทคเทอมกัน พอพี่สาวคนโตแต่งงาน-พี่สาวคนที่สองก็มาทำงานที่ร้าน เมื่อพี่สาวคนที่สองแต่งงาน เธอซึ่งเป็นลูกคนที่สาม-ก็มาทำงานแทน

             “ความจริงไม่ชอบงานแบบนี้ แต่มันถึงเวลาที่ต้องทำ ต้องช่วยกันดูแลธุรกิจของที่บ้าน เราทำอะไรได้ก็ทำไป พี่สาวคนโตซึ่งทำธุรกิจก่อสร้างอยู่กรุงเทพฯ ยังมาช่วยดูและให้คำปรึกษา ส่วนน้องคนที่สี่ เรียนจบปริญญาตรีกลับมาแล้ว เพิ่งมาช่วยงานที่ร้าน

             รู้สึกเป็นภาระไหม ไม่มีมีสิทธิ์เลือกงาน? “ไม่ๆๆ ก่อนนี้แอบรู้สึกนิดหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ชินแล้ว ส่วนธุรกิจร้าน เรามีพี่น้องสี่คน คิดตลอดว่าถึงเวลาถ้าไม่ไหว ก็ดึงพี่น้องกลับมาช่วยกัน เรามีพี่สาวที่ต้องฟังเขา...ตอนนี้ตลาดสู้กันหนักมาก เครียดเหมือนกัน ค่อยๆ ดูทีละเปลาะว่าไปยังไง แต่เราทำธุรกิจแบบไม่ทรมานตนเองเกินไป ต้องใช้ชีวิตให้มีความสุข ยอดขายในเศรษฐกิจแบบนี้ถือว่าโอเค เลี้ยงลูกน้องได้ ไม่ต้องเป็นห่วง”

             ส่วนวันว่างๆ (ซึ่งช่วงนี้ไม่ค่อยมี เพราะทำงานจันทร์-ศุกร์ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ไปเรียนปริญญาโท) ก็ไปหัดต่อยมวยไทย เป็นทั้งกีฬาและงานอดิเรก ทำให้น้ำหนักลดลง 16 กิโลกรัม จากเดิม 64 กิโลกรัม เหลือ 48 กิโลกรัม

             “มีเทรนเนอร์ ต่อยมาสองสามปีแล้ว จากคนไม่เคยขยับร่างกายมันคงเบิร์นดี ยังไปเรียนเรื่อยๆ คือไม่ชอบเล่นกีฬาอย่างอื่น จะไปเล่นคนเดียวก็เหงา ไม่ชาลเลนจ์ ต้องมีคนกระตุ้น จึงไปออกกำลังกาย เล่นครั้งละชั่วโมงครึ่ง มีพัฒนาการที่ดีขึ้น จากต่อยอย่างเดียว ก็มีท่าอื่นๆ ด้วย”

             อารียฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล หรือ เจ้เล้ง กล่าวถึงการทำตลาดออนไลน์ว่าเป็นเรื่องที่ร้านค้าเหนื่อย สมมุติจะซื้อเรา เพราะลูกค้าจะดูที่อื่นเพื่อเปรียบเทียบราคา เราทำโตขึ้นเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ จากเดิมกะพร่องกะแพร่ง เริ่มมาสองปีแล้ว ปีแรกไม่สำเร็จ ตอนนี้มีพนักงานทำออนไลน์ 4-5 คน ยอดขายไม่แน่นอน วันหนึ่งขายได้หลายร้อยชิ้น ยอดขายมีทั้งหลักหมื่น หลักแสนบาท เป็นล้านก็มี แล้วแต่ปริมาณ แต่ลูกค้าๆ เดินทางมาที่ร้านน้อยลง เพราะซื้อออนไลน์ได้

             สินค้าที่ขายดีเป็นเครื่องสำอาง ส่วนของกินก็มีคนจะซื้อเยอะ แต่ร้านปฏิเสธไปบ้าง ยอดขายออนไลน์คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด เศรษฐกิจไม่ดีปีนี้ คือของจริง ปีนี้ลดลงหน่อยเหมือนช่วงที่ประเทศไทยเข้าโครงการไอเอ็มเอฟ เพราะคนไม่ได้เงินแบบง่ายๆ มาสองปีแล้ว ทุกอย่างสะดุดหมด ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ทางร้านต้องหาของใหม่ๆ มาขายมากขึ้น เรานำเข้าสินค้าเอสเอ็มอีจากต่างประเทศ ถูกแต่ดี มาขาย

             โปรโมชั่น ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-8 กันยายน 2559 ปกติเวลามีโปรโมชั่นเพิ่มยอดขาย 200 เปอร์เซ็นต์ ยอดซื้อต่อรายลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ได้จำนวนลูกค้ามากขึ้น ธุรกิจเรายังอยู่ได้ ไปได้เรื่อยๆ ไม่เดือดร้อน โตตามธรรมชาติ

             ส่วนตลาดขายส่งลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านประกอบด้วย ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม คิดเป็น 30-40 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้ามาเองเป็นแบบปากต่อปาก และซื้อของไม่เหมือนกัน ลูกค้าชาวเมียนมาร์มี 30 ราย คนกลุ่มนี้ซื้อของเกรดดี ค่อนข้างแพง สินค้าชิ้นละ 2,000-3,000 บาทก็กล้าสั่ง จะซื้อของที่ทางร้านเจ้เล้งนำเข้าเองหาซื้อที่อื่นไม่ได้ ยอดซื้อครั้งละ 5 แสน หรือ 1 ล้านบาทก็มี

             ลูกค้าเวียดนาม ซื้อสินค้าราคากลางๆ ส่วนลาว-กัมพูชา ซื้อของราคาถูกกว่า ส่วนใหญ่มาเดินช็อปที่ร้านก่อน ปัจจุบันดูจากเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก และโทรมาถามว่ามีสินค้าแบบนี้ไหม

             ในวัยเจ็ดสิบปี เจ้เล้งยังกระฉับกระเฉง มีความสุขในการทำงานไม่มีความคิดจะรีไทร์ตัวเอง เคยลองหยุดไม่ทำงาน 1 วัน ปรากฏว่าเครียด กลางคืนนอนไม่หลับ อยากให้สว่างเพื่อจะได้ไปทำงานเร็วๆ

             “เงินไม่ใช่ประเด็น ขอให้ได้ทำงาน ให้เป็นคนแก่นั่งหงอยๆ อยู่บ้าน ไม่เอาไม่ได้งกนะ แต่ชอบความสำเร็จ มันภูมิใจ มีความสุข” เจ้เล้งกล่าวปิดท้าย