
“ผักเชียงดา”ฆ่าน้ำตาล!
โดย - นายสวีสอง
"ผักเชียงดา" หรือ ผักจินดา เมื่ออดีตถูกใช้เป็นยารักษาเบาหวานในอินเดียและประเทศแถบเอเชียมานานกว่า 2000 ภาษาฮินดูเรียก Gurmar แปลตรงตัวว่า ผู้ฆ่าน้ำตาล ญี่ปุ่นใช้ยอดอ่อนผลิตเป็นชาชงสมุนไพร (Herbal tea) ในบ้านเราเป็นผักพื้นบ้านยอดนิยมของชาวเหนือ ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มโอกาสทางธุรกิจสูง เพราะสรรพคุณด้านโภชนาการ และสรรพคุณทางยาที่มีมากมาย
เป็นไม้เถาเลื้อย อายุข้ามปี วงศ์ Asclepiadaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnema inodorum (Lour.) Decne. ชื่ออื่น เจียงดา,ผักกูด, ผักจินดา,ผักเซ่งดา,ผักม้วนไก่, ผักเซ็ง,ผักฮ่อนไก่, ผักอีฮ่วน, เครือจันปา
ลำต้น สีเขียวเป็นเถา ความยาวขึ้นอยู่กับอายุ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-5 เซนติเมตร ทุกส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นจะมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกจากข้อเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบทรงรี ปลายแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย กว้าง 9-11 เซนติเมตร ยาว 14.5-18.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่า ผิวใบเรียบไม่มีขน ก้านใบยาว 3.5-6 เซนติเมตร
ดอก ออกเป็นช่อแน่นสีขาวอมเขียว'อ่อน ดอกย่อยเล็กกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร
ผล เป็นฝักคู่ ข้างในมีเมล็ดมาก
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ชอบอากาศเย็น ความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน
สรรพคุณทางยา-สมุนไพร : หมอยาพื้นบ้านใช้เป็นผักเพิ่มกำลังในการทำงานหนักและใช้เป็นยารักษาเบาหวานเช่นเดียวกับที่อินเดียและประเทศแถบเอเชียดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งมีสรรพคุณ ช่วยบำรุงและปรับสภาพการทำงานของตับอ่อนให้เป็นปกติ,ชำระล้างสารพิษตกค้างและฟื้นฟูตับอ่อนให้แข็งแรง,บำรุงและซ่อมแซมหมวกไต และระบบการทำงานของไตให้สมบูรณ์,ปรับระดับอินซูลินในร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล,ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ของผู้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือเบาหวาน,ปรับและควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ,ช่วยลดและควบคุมปริมาณไขมัน (Cholesterol) ในร่างกายให้สมดุล,บรรเทาอาการภูมิแพ้และหืดหอบ,บรรเทาอาการปวดข้อจากโรคเก๊าต์
ตำรายาไทยไม่มีการบันทึกสรรพคุณทางยาของผักเชียงดา ทว่า ทางภาคเหนือใช้ใบผักเชียงดามาพอกกระหม่อมรักษาไข้และอาการหวัด หรือนำไปประกอบในตำรับยาแก้ไข้ ,มีสรรพคุณเหมือนฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ แก้แพ้ และยังรักษาอาการทางจิต,รักษาโรคท้องผูก โดยแกงผักเชียงดารวมกันกับผักตำลึงและยอดชะอม,แก้ไข้ แก้หวัด ใช้ใบสดตำละเอียดพอกกระหม่อม,ปัจจุบันมีงานวิจัยระบุว่าผักเชียงดา สามารถช่วยบำรุงตับอ่อนที่ไม่ผลิตอินซูลิน สาเหตุหนึ่งของโรคเบาหวานให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยเอายอดอ่อนหรือใบอ่อนต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มขณะอุ่นแทนน้ำวันละ 2-3 แก้ว ดื่มเรื่อยๆ จะช่วยบำรุงตับอ่อนและลดเบาหวานได้
ประโยชน์ด้านอาหาร : ยอดอ่อนและใบอ่อน นำมาเป็นผัก มีรสขมอ่อนๆ และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ในผัก 100 กรัม มีวิตามินซี 153 มิลลิกรัม,เบต้าแคโรทีน 5,905 ไมโครกรัม,วิตามินเอ 984 ไมโครกรัม,แคลเซียม (78 มิลลิกรัม),ฟอสฟอรัส (98 มิลลิกรัม),เส้นใยอาหาร (crude fiber 2.5 กรัม),โปรตีน (5.4 กรัม),ไขมัน (1.5 กรัม), คาร์โบไฮเดรต (8.6 กรัม)
ทั้งนี้ ปี พ.ศ.2548 นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัย Nippon Veterinary and Animal Science University ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นได้ตีพิมพ์ผลงานวิเคราะห์สารบริสุทธิ์ (pure compound) ที่เป็นตัวออกฤทธิ์ในการลดน้ำตาลจากใบของผักเชียงดา โดยใช้วิธีเทียบเคียงสูตรโครงสร้างของสารออกฤทธิ์ตามธรรมชาติด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Structure-activity relationship (SAR) และได้ออกแบบสูตรโครงสร้างสาระสำคัญ 4 ตัว (GIA-1, GiA-2, GIA-5, และ GIA-7) ซึ่งพิสูจน์ฤทธิ์ในหนูทดลองแล้วว่าสามารถลดระดับน้ำตาลได้ จึงสังเคราะห์สารสำคัญนี้ขึ้นมา วิธีการนี้ได้สารออกฤทธิ์ที่แม่นยำ ช่วยลดปริมาณความต้องการใช้สารออกฤทธิ์ตามธรรมชาติจากใบของผักเชียงดาอย่างมาก
อีกทั้ง ยังลดปริมาณอนุมูลอิสระในกระแสเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน เพิ่มปริมาณของสารกลูตาไทโอน วิตามินซี วิตามินอี ในกระแสเลือดของหนูได้อีกด้วย และยังพบอีกว่าสารสกัดผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดสูงกว่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวานที่มีชื่อว่า ไกลเบนคลาไมด์ (glibenclamide) พร้อมกันนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาความเป็นพิษของผักเชียงดา รายงานว่าไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด
แหล่งที่มาข้อมูล : “เชียงดา” ผักฆ่าน้ำตาล ช่วยรักษาเบาหวาน. ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร , หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์