ข่าว

ไก่โคราช (2)

ไก่โคราช (2)

22 ส.ค. 2559

โดย - รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

               ไก่โคราช เป็นไก่ลูกผสมระหว่างไก่เหลืองหางขาว ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองของไทยกับแม่ไก่สายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี ดร.อมรรัตน์ โมฬี เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งผลที่ได้คือไก่ลูกผสมที่มีเนื้อและรสชาติอร่อยเหมือนไก่พื้นเมือง แต่สามารถให้ลูกดกเหมือนไก่พันธุ์ของต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะว่าไก่พื้นเมืองของเราให้ลูกน้อย การหาพันธุ์มาเลี้ยงเป็นการค้าจึงเป็นเรื่องยาก
               ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยการพัฒนาแม่พันธุ์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้ไข่ดก และใช้ไก่พื้นเมืองเป็นพ่อพันธุ์ จึงทำให้ได้ไก่ที่มีคุณภาพดี และมีโอกาสเลี้ยงเป็นการค้าได้ ด้วยหตุนี้ทำให้ไก่โคราชสามารถเลี้ยงได้ในปริมาณมากและทำเป็นการค้าได้ ตอนนี้มีเกษตรกรมากกว่า 150 รายที่ใช้ไก่โคราช มีร้านอาหารประมาณ 5 ร้านใน จ.นครราชสีมา และอีก 1 ร้านในกรุงเทพมหานคร ที่เลือกใช้ไก่โคราชเป็นวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารเมนูไก่ของร้าน

 

ไก่โคราช (2)


               ย้อนไปช่วงเริ่มต้นของโครงการ มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้ามาร่วมโครงการเพียง 5 ราย ต่อมาเพิ่มกว่า 100 รายในหลายจังหวัด เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น ลพบุรี หันมาเลี้ยงไก่โคราชอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะว่ามีตลาดที่รองรับแน่นอน
               ที่จริงความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะความร่วมมือจากหลายหน่วยงานด้วยกัน หน่วยแรกที่ทำหน้าที่สนับสนุนทุนวิจัยก็คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.​ ซึ่งให้ทุนวิจัยเรื่องไก่พื้นเมืองต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว และส่วนหนึ่งของโครงการนั้นก็คือการพัฒนาฝูงพันธุ์ไก่พื้นเมืองสายพันธุ์แท้ให้แก่กรมปศุสัตว์ จนกระทั่งกรมปศุสัตว์สามารถสร้างฝูงพันธุ์ไก่พื้นเมืองได้ 4 สายพันธุ์ด้วยกัน และเหลืองหางขาวก็เป็นหนึ่งในนั้น
               ก็แน่นอนครับว่ากรมปศุสัตว์เข้ามาร่วมในโครงการพัฒนาไก่โคราชนี้ด้วยเช่นกัน โดยสนับสนุนพันธุ์ไก่พื้นเมืองฝูงมาตรฐาน และมีนักวิจัยของกรมเข้ามาร่วมศึกษาวิจัยเพื่อทดสอบพันธุ์ไก่ ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก็สนับสนุนงบประมาณวิจัยลงมาด้วย พร้อมทั้งสนับสนุนนักวิจัยและสถานที่ทำวิจัย สิ่งที่ทีมวิจัยทำก็คือการใช้ความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์ขั้นสูง มาพัฒนาแม่พันธุ์ที่ให้ไข่ดก และสามารถถ่ายทอดลักษณะเด่นด้านคุณภาพเนื้อของไก่พื้นเมืองมาสู่รุ่นลูกได้ รวมทั้งอัตราการเติบโตดีกว่าไก่พื้นเมือง แต่ยังคงลักษณะเด่นด้านรสชาติของไก่พื้นเมืองไว้ได้ ผลก็คือต้นทุนการผลิตไก่ต่ำกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป

 

ไก่โคราช (2)


               ที่สำคัญคือมีกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มทำนาลาดบัวขาว เข้ามาเป็นกลุ่มอาสาร่วมในการวิจัยและทดสอบพันธุ์ไก่ว่ามีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพได้หรือไม่ ส่วนหอการค้าจังหวัดก็เข้ามามีบทบาทในการให้มุมมองด้านการค้าและการตลาดให้อีกด้วย
               หน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทมากอีกหน่วยหนึ่งก็คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เข้ามาร่วมมือแนะนำไก่เนื้อโคราชให้กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคาร โดยธนาคารเองก็มีเป้าหมายว่าจะใช้ไก่โคราชเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งความร่วมมือกันหลายหน่วยงานอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จที่เกิดขึ้น เพราะหากไม่มีความร่วมมือดังกล่าวความสำเร็จแบบนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้
               ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้วิชาการในรั่้วมหาวิทยาลัย มาสร้างอาชีพใหม่ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

               ที่สำคัญคือเป็นวิชาการที่เกษตรกรสามารถรับไปปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่สิ่งที่เพ้อฝันหรือไกลเกินเอื้อม