
มาตรฐานบัญชี ยกระดับ‘เอสเอ็มอี’
เล่าสู่กันฟัง : มาตรฐานบัญชี ยกระดับ ‘เอสเอ็มอี’ : โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์
เอสเอ็มอีถือเป็นกลไกสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสปีดกันอย่างเต็มสูบในการเตรียมความพร้อมให้แก่เอสเอ็มอีในทุกด้าน
ความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจคือ การจัดทำร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (TFRS for SMEs) ของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี เพื่อวางมาตรฐานทางบัญชีเอสเอ็มอีให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศและทันต่อสภาวการณ์ในปัจจุบัน โดยแก้ไขจากฉบับปรับปรุงปี 2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2560
การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกับเอสเอ็มอีอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
เรื่องนี้แม้จะเข้าใจยากสักหน่อย แต่เอสเอ็มอีต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่มาตรฐานสากลเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาว เพราะหลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่เออีซีแล้ว การรายงานงบการเงินรูปแบบใหม่จะสามารถเปรียบเทียบกับบริษัทต่างๆ ทั่วภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย และนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ ที่น่าสนใจยังช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการเพื่อการอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้นด้วย
แต่ในความใหม่ของมาตรฐานดังกล่าว ก็ทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งแอบเครียด เพราะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นมาเป็น 35 บท จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 22 บท และแต่ละเรื่องมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น
วันนี้เอสเอ็มอีส่วนหนึ่งอาจพร้อมที่จะเดินตามมาตรฐานบัญชีใหม่ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจึงได้แบ่งกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ที่มีความซับซ้อนหมายถึง กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่เป็นสมาชิกของกลุ่มกิจการ โดยเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ เป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่เป็นบริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือกิจการร่วมค้าของกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ เป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่มีเงินลงทุนในกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะในฐานะบริษัทย่อย
2.กลุ่มกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่ไม่มีความซับซ้อน หมายถึง กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่ไม่ใช่กลุ่มกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่มีความซับซ้อนในโครงสร้างการถือหุ้นหรือไม่อยู่ในกลุ่มกิจการนั่นเอง
พร้อมทั้งได้มีการผ่อนผันและยกเว้นการถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินบางบท เพราะตระหนักดีถึงความแตกต่างของกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะและมีความตั้งใจตั้งแต่แรกว่า การถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวนั้น จะต้องไม่เพิ่มต้นทุนให้แก่กิจการมากจนเกินไปนัก และกิจการจะต้องมีความเหมาะสมในการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวมาใช้
ระยะแรกในการก้าวไปสู่แนวปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีใหม่อาจจะดูยุ่งยาก ซับซ้อน แต่เชื่อเถอะว่าหากเดินตามแนวทางนี้จะช่วยยกระดับเอสเอ็มอีของไทยสู่มาตรฐานสากลให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่งคั่งอย่างแน่นอน