ข่าว

"หญ้าหนวดแมว"สลายนิ่ว-ลดความดัน!

"หญ้าหนวดแมว"สลายนิ่ว-ลดความดัน!

24 ก.ค. 2559

โดย - นายสวีสอง

        ขึ้นชื่อว่าต้นหญ้า ดอกหญ้า หลายๆคนคงแยกไม่ออกว่าต้นไหนชื่ออะไร มีจุดเด่นอย่างไร เหตุนี้จึงทำให้มันถูกเหยียบย่ำ หรือหากเกิดผิดที่ผิดทางมันก็จะถูกถอนทิ้งโดยปริยาย เพราะปัจจุบันน้อยคนนักจะรู้ว่าหญ้าก็มีประโยชน์ เหมือนดัง “หญ้าหนวดแมว” หญ้าสมุนไพรที่ขึ้นชื่อด้านนำมาใช้รักษานิ่ว โรคทางเดินปัสสาวะ โดยมีผลงานวิจัยมากมายยืนยันสรรพคุณ

          สรรพคุณทางยา : ราก – ขับปัสสาวะ ,ทั้งต้น -  แก้โรคไต ขับปัสสาวะ โรคกระษัย โรคปวดตามสันหลัง และบั้นเอว โรคนิ่ว โรคเยื่อจมูกอักเสบ,ใบ - รักษาโรคไต โรคปวดข้อ ปวดหลัง ไขข้ออักเสบ ลดความดันโลหิต โรคเบาหวาน ลดน้ำขับกรดยูริคแอซิดจากไต

          วิธีการใช้ : ยอดอ่อนนำมาหั่นตากให้แห้ง ใช้ประมาณ 2 กรัม ชงกับน้ำเดือด 1 แก้ว,ต้นสด ใช้ประมาณ 90-120 กรัม ต้นแห้ง ใช้ 40-50 กรัมชงกับน้ำ 1 แก้ว วันละ 3 ครัง ก่อนอาหาร

         ทั้งนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์ วีรสิงห์ เมืองมั่น และคณะ ได้ใช้ยาชงจากหญ้าหนวดแมว 4 กรัม ชงกับน้ำเดือด 750 ซีซี. ดื่มต่างน้ำในคนไข้ 27 คน พบว่าทำให้ปัสสาวะคล่องและใส อาการปวดนิ่วลดลง นิ่วขนาดเล็กลง และหลุดออกมาได้เอง มีผู้ป่วยร้อยละ 40 หายจากปวดนิ่ว

         หญ้าหนวดแมว เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ในวงศ์ Lamiaceae (Labiatae) ชื่ออื่น บางรักป่า (ประจวบคีรีขันธ์) พยับเมฆ (กรุงเทพฯ) อีตู่ดง (เพชรบูรณ์)

         ลำต้น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม สูง 0.3-0.8 เมตร

         ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ขอบหยัก แผ่นใบสีเขียวเข้ม

         ดอก ออกเป็นช่อตรงปลายยอด มี 2 พันธุ์ ชนิดดอกสีขาวอมม่วงอ่อน กับพันธุ์ดอกสีฟ้า บานจากล่างขึ้นข้างบน เกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวยื่นออกมานอกกลีบดอก

         ผล เป็นผลแห้งไม่แตก

         ขยายพันธุ์ ปักชำกิ่ง เพาะเมล็ด ชอบความชื้นและแสงแดดเต็มวัน

 

           ข้อควรระวัง - คนที่เป็นโรคหัวใจ ไต ห้ามรับประทาน เพราะในหญ้านี้มีโพแทสเซียมสูงมากถ้าไตไม่ปกติ จะไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกมาได้ ทำให้เกิดโทษกับร่างกาย,ให้ใช้การชงและใช้ใบอ่อน เพราะใบแก่จะเข้มข้นอาจทำให้มีฤทธิ์กดหัวใจ,ใช้ใบตากแห้ง เพราะใบสดจะทำให้มีอาการคลื่นไส้และหัวใจสั่น,ไม่ใช้หญ้านี้ร่วมกับแอสไพริน เพราะสารจากหญ้าจะทำให้ยาจำพวกนี้ ไปจับกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น (ที่มา : วิกิพีเดีย)