ข่าว

ข่าวกรองยันผู้นำอีแลมไม่ได้ถูกจับในไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปณิธาน" โต้สื่อเทศปูดข่าวจับ "เคพี" ผู้นำกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในไทย เผยโดนรวบที่มาเลย์ แฉมาไทยบ่อยเหตุได้เมียคนภาคเหนือ ด้านสื่อศรีลังกาตีข่าวอ้างไทยแค่เบนความสนใจ ขณะที่กองทัพศรีลังกาปัดตอบจับที่ไหน อ้างเหตุผลทางการทูต

 หลังจากสำนักข่าวดีพีเอรายงานเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. วันที่ 7 สิงหาคม โดยอ้างถึงแถลงของนายทหาร อูดานา นานานัคคารา กองทัพศรีลังกา ที่ยืนยันว่านายเซลวาราสา ปัทมานาทาน หรือ เคพี ผู้นำคนใหม่ของกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (แอลทีทีอี) ถูกจับกุมตัวที่กรุงเทพฯ จริง แต่ไม่อาจระบุรายละเอียดเพิ่มเติมได้นั้น

 ล่าสุดเมื่อเวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "กำลังตรวจสอบอยู่"

 ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าสายการบินต่างๆ ที่บินไปยังศรีลังกาต้องผ่านประเทศไทยก่อน ขณะนี้ยืนยันในเบื้องต้นว่าไม่ได้จับตัวนายเซลวาราสามาแต่อย่างใด ทั้งนี้ผู้นำกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเคยเข้าออกประเทศไทยจริง จากที่ปรากฏในข้อมูลการเดินทางเข้าออกซึ่งเป็นข้อมูลเก่าแล้ว และตัวของผู้นำกบฏคนดังกล่าวอาจมีภรรยาอยู่ที่ประเทศไทยด้วย เพราะเคยมาพักพิงอยู่ทางภาคเหนือ 2-3 ครั้ง

 "ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงกำลังประชุมสรุปสถานการณ์เรื่องนี้อยู่ว่าเที่ยวบินต่างๆ มีบุคคลดังกล่าวเดินทางในเที่ยวบินนั้นหรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ถูกจับตัวที่กรุงเทพฯ เข้าใจว่าถูกจับตัวที่ต่างประเทศ แล้วถูกส่งตัวไปที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งต้องผ่านประเทศไทย" นายปณิธาน กล่าว

 ต่อมาเวลา 11.50 น. นายปณิธานให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ล่าสุดสำนักข่าวกรองแห่งชาติได้รายงานให้รัฐบาลรับทราบว่า ไม่ได้มีการจับกุมนายเคพีที่ประเทศไทย แต่ทราบจากเว็บไซต์ของกลุ่มกบฏนี้ที่เผยแพร่มาจากแคนาดา โดยข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าวระบุว่านายเคพีอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม และหายตัวไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม โดยมีการพบบุคคลต้องสงสัยโดนถุงคลุมหน้าที่สนามบินในกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

 "หลายฝ่ายคาดว่านายเคพีโดนจับกุมที่มาเลเซีย และกำลังถูกส่งตัวไปที่ศรีลังกา และอาจมีการถ่ายโอนผู้โดยสารที่กรุงเทพฯ ซึ่งจากการติดต่อของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ไปยังสำนักข่าวกรองของสิงคโปร์ มาเลเซีย และศรีลังกา ไม่มีฝ่ายใดยอมรับว่านายเคพีถูกจับกุมที่ประเทศใด" นายปณิธานกล่าว

 รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวอีกว่า นายเคพีเดินทางเข้าออกในหลายประเทศ และก่อนหน้านี้ยอมรับว่านายเคพีเคยมีภรรยาอยู่ในไทย และอาจยุ่งเกี่ยวกับขบวนการค้าอาวุธ แต่จะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จับกุมอาวุธสงครามในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคมหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ขณะนี้ประเทศไทยได้ผลักดันบุคคลต้องห้ามของประเทศต่างๆ ที่เข้ามาใช้ไทยเป็นสถานที่พำนักให้ออกไป และพร้อมจับกุมตัวให้หากมีบางประเทศประสานมา โดยเริ่มตั้งแต่การจับกุมนายฮัมบาลี แกนนำเจไอไปให้สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2545

 ขณะที่ พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข่าวยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยไม่ได้มีการจับกุมผู้นำกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม แต่จากการตรวจสอบทราบว่าทางการสิงคโปร์เป็นผู้จับกุมได้เมื่อคืนที่ผ่านมา ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีการเคลื่อนไหวใน 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

 พล.ต.ท.ธีระเดช กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้นำกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนี้ ทราบว่ามีภรรยาเป็นคนไทย แต่ไม่ทราบว่าเป็นภรรยาคนที่เท่าไหร่ ทั้งนี้จะต้องรอตรวจสอบอีกครั้ง เพราะมีการลักลอบเข้าหรือรอทางการสิงคโปร์แถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

 รายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แจ้งว่า จากการตรวจสอบจากสำนักงานตำรวจสากลของไทย พบว่า มีการจับกุมนายเคพีจริง โดยผู้จับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นของประเทศสิงคโปร์ เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 6 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานายเคพีเข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีประวัติตามที่หน่วยข่าวกรองของไทยระบุคือ อายุ 57 ปี สัญชาติศรีลังกา มีภรรยาเป็นคนไทยอาชีพพยาบาลอยู่ที่ จ.ลำพูน พื้นที่ปฏิบัติการ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ มาเลเซีย ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ไซปรัส สหรัฐอเมริกา และไทย

 สำหรับการเคลื่อนไหวในไทย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 หลังจากสังหารนายราจีฟ คานธี ได้หลบหนีเข้าประเทศไทย เข้าพักที่โรงแรมมาเลเซีย ต่อมาได้ติดต่อซื้ออาวุธ วัตถุระเบิด จากบริษัทแห่งหนึ่งย่านบางรัก วันที่ 1 กรกฎาคม 2534 ปรากฏตัวที่ อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี เพื่อติดต่อซื้ออาวุธจากกลุ่ม KPNLF วันที่ 6 พฤศจิกายน 2534 ทางการอินเดียจับกุมเรือทองนาวา พบอาวุธในเรือที่ลักลอบนำไปส่งให้กลุ่มกบฏ โดยอาวุธทั้งหมดมาจากประเทศไทย

 ต่อมาทราบว่ามีการปลอมลายมือชื่อซื้ออาวุธปืนจากกองทะเบียน สตช. จนมีการตั้งกรรมการสอบสวน ปัจจุบันนายตำรวจที่ถูกสอบสวนขึ้นเป็นนายพลตำรวจ ใน สตช. ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนมีมติให้ออกจากราชการ แต่ สตช.ยังเก็บเรื่องไว้อยู่ เนื่องจากนายพลคนดังกล่าวจะเกษียณอายุราชการในปีนี้

 กระทั่งเมื่อเวลา 18.00 น. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบไปน่าจะมีการจับกุมผู้นำกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมที่ประเทศมาเลเซีย ยืนยันว่าไม่ได้จับกุมในไทย แต่เท่าที่เข้าใจคือหลังจากนายเคพีถูกจับกุมขบวนการนำส่งตัวอาจจะผ่านทางประเทศไทย

 ส่วนที่มีข่าวว่านายเคพีมีประวัติเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียด ก็ให้เป็นการดำเนินการของมาเลเซีย ส่วนไทยให้ความร่วมมืออยู่แล้ว ถ้ามีการขอความร่วมมือมา

 ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลทางลึกหรือไม่ว่ากลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานเพื่อใช้กบดาน นายอภิสิทธิ์ กล่าวยืยันว่า เราไม่อนุญาตให้ใช้ประเทศไทย ในการที่จะตั้งฐานของการต่อต้าน หรือสร้างปัญหาด้านความมั่นคงให้แก่ที่อื่นอยู่แล้ว

 วันเดียวกัน เว็บไซต์ลังกาศรีนิวส์ของศรีลังกา รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า นายเคพี ถูกจับตัวได้ที่โรงแรมทูน โฮเต็ล ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อบ่ายวันพุธที่ผ่านมา ระหว่างที่เขาไปพบพี่ชายและลูกชายของนายบี นาเดซาน ผู้นำทางการเมืองของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ

 แหล่งข่าวเปิดเผยว่า นายเคพีได้รับโทรศัพท์ช่วงเกือบบ่ายสองโมงตามเวลาท้องถิ่น และขอตัวออกไปคุยนอกห้องพัก หลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย เชื่อว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของศรีลังกาจับตัวไป โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพ หรือหน่วยข่าวกรองของมาเลเซีย และเชื่อว่าเขาถูกส่งตัวไปยังกรุงโคลัมโบของศรีลังกาแล้ว

 การจับนายเคพีเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาหลังจากที่มีข่าวว่าหัวหน้ากบฏคนใหม่ถูกจับได้ที่ไทย แต่ภายหลังไทยได้ออกมาปฏิเสธ โดยกลุ่มชาวทมิฬบอกว่า การจับกุมครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองของประเทศอื่นๆ อีก ส่วนการที่กองทัพศรีลังกาออกมาเปิดเผยเมื่อวานว่านายเคพีถูกจับกุมในประเทศไทยนั้น เป็นเพียงการเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องที่มาเลเซียและอีกประเทศหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการจับตัว

 ด้านโฆษกกองทัพศรีลังการายงานว่า ขณะนี้นายเคพีกำลังถูกสอบสวนในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศ แต่ไม่ยอมเปิดเผยว่าจับกุมผู้นำคนใหม่ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬได้ที่ใด โดยเจ้าหน้าที่ศรีลังกา กล่าวว่า เป็นเหตุผลด้านการทูต เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และรัฐบาลศรีลังกาต้องการเคารพทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 ทั้งนี้นายเคพีได้รับการแต่งตั้งเมื่อหนึ่งเดือนก่อน หลังจากกองทัพศรีลังกาปราบฝ่ายกบฏจนสิ้นซาก พร้อมสังหารนายเวฬุพิไล ประภาการัน ผู้นำกลุ่มกบฏ กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้ติดตามจำนวนมากเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยนายเคพีประกาศไม่นานหลังการแต่งตั้งว่า กลุ่มจะใช้วิธีไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อหาทางให้ได้รัฐเอกราชสำหรับชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬ

 นายอนุชา เพลพิตา ผู้อำนวยการด้านข่าวสารของรัฐบาลศรีลังกา กล่าวว่า นายเคพีเป็นที่ต้องการตัวของตำรวจสากล (อินเตอร์โปล) ในข้อหาลักลอบจัดหาอาวุธ และเป็นผู้นำคนใหม่ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ

 นายเคพีเป็นหนึ่งผู้ก่อตั้งกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬคนแรกๆ และรอดการจับกุมของทางการมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และสร้างอาณาจักร "เคพี ดีพาร์ตเมนต์" ที่มีเป้าหมายระดมทุนและจัดซื้ออาวุธให้กลุ่มกบฏมูลค่าปีละหลายล้านดอลลาร์

 ข่าวระบุอีกว่าหลายฝ่ายเชื่อมานานแล้วว่านายเคพีหลบซ่อนตัวอยู่ที่พม่า มาเลเซีย และไทย โดยใช้หนังสือเดินทางหลายเล่ม โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเผยว่า กบฏพยัคฆ์ทมิฬหาเงินได้มากถึงปีละ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการลักลอบและขนส่งอาวุธ รวมทั้งการรีดไถ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ