ข่าว

  “กระชับ”วัชพืชไร้ค่าสู่เมนูเด็ด คนแกลงเพาะขายทำเงินหมื่น!

“กระชับ”วัชพืชไร้ค่าสู่เมนูเด็ด คนแกลงเพาะขายทำเงินหมื่น!

16 ก.ค. 2559

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           อ.แกลง จ.ระยอง มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ขณะเดียวกันก็มีแม่น้ำประแสซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาชะเมาไหลผ่านพื้นที่หลายตำบล ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลที่ปากน้ำประแส สภาพภูมินิเวศน์ชายฝั่งจึงประกอบไปด้วยพื้นที่น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม

        ดังนั้น พื้นที่แถบนี้จึงทำนาปลูกข้าวได้ ผลพลอยได้จากการทำนาก็คือจะมีพืชชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกกว่า “กระชับ” (ออกเสียงตามสำเนียงคนระยองว่า “กระฉับ” ) เกิดขึ้นในท้องนา 

         พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยราชสถาน พ.ศ.2542 อธิบายว่า “ น.ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Xanthium strumarium L.ในวงศ์ Compositae มักขึ้นเป็นวัชพืชในทุ่งนาและริมน้ำลําต้นและใบคาย ใบมนเว้า ขอบจักโคนใบแหลม ดอกเล็กรวมเป็นกระจุก ผลรี ยาว 1 เซนติเมตร มีหนามปลายงอทั่วทั้งผล รากหอมอ่อนๆ ใช้อบผ้าได้ บางส่วนของไม้นี้ใช้เป็นยาได้ แต่ทั้งต้นเป็นพิษต่อปศุสัตว์, ขี้ครอก หรือขี้อ้น ก็เรียก”

         ผักกระชับนี้ชาวบ้านนิยมเอาต้นอ่อนมาใส่ในแกงส้ม กินกับน้ำพริก นำมาผัดหรือยำ ทำเป็นอาหารได้หลายอย่าง ต้นอ่อนของผักกระชับจะมีลักษณะคล้ายกับต้นอ่อนของทานตะวันและจัดเป็นพืชตระกูลเดียวกัน เมื่อก่อนไม่มีราคาค่างวด แต่ปัจจุบันมีการเพาะต้นอ่อนออกจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 120-150 บาท (ตามแต่ฤดูกาล)

         โดยเฉพาะที่หมู่ที่ 6 บ้านทะเลน้อย ต.ทางเกวียน อ.แกลง มีชาวบ้านประกอบอาชีพนี้ประมาณ 13 ราย สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าครัวเรือนละ 20,000-30,000 บาท/เดือน

           นายประสาน  ถวิล เกษตรกรบ้านทะเลน้อย เล่าว่า ผักกระชับจะเกิดขึ้นในทุ่งนาหลังการเกี่ยวข้าวแล้ว เมื่อเมล็ดกระชับแก่ก็จะร่วงลงในนาและงอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อน ชาวบ้านจะถอนเอาไปทำอาหาร เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมีชาวบ้านรายหนึ่งนำเมล็ดกระชับแก่ไปลองเพาะต้นอ่อนเพื่อจะได้มีผักกระชับกินตลอดปี ไม่ต้องรอตามฤดูกาล

          หลังจากนั้นจึงมีชาวบ้านรายอื่นๆ ลองเพาะดูบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ทำเป็นอาชีพเพราะตลาดยังไม่กว้าง ยังไม่มีคนรู้จัก แต่เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้วผักกระชับเริ่มได้รับความนิยม เพราะต้นอ่อนมีความกรอบอร่อย รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม เพราะผืนดินที่นี่อยู่ในเขตน้ำกร่อย

          โดยผักกระชับจะเจริญเติบโตได้ดี  แตกต่างจากผักกระชับที่เกิดขึ้นในภาคอื่นๆ ที่มีรสขม (ภาคเหนือเรียกว่า “หญ้าผมยุ่ง” ทางราชบุรีเรียกว่า “ผักขี้ครอก”) ชาวบ้านหลายครอบครัวในบ้านทะเลน้อยจึงเริ่มเพาะผักกระชับขาย

          “ผมเริ่มเพาะขายเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีบ่อแช่เมล็ดกระชับ 10 บ่อ  มีแปลงเพาะ  10 แปลง  ใช้พื้นที่ไม่มาก พื้นที่ว่างรอบบ้านนั่นเอง เริ่มแรกจะต้องเตรียมเมล็ดพันธุ์ก่อนโดยนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในนาช่วงเดือนพฤศจิกายน และจะเก็บเมล็ดแก่ได้ในช่วงกุมภาพันธ์

           จากนั้นจะนำเมล็ดกระชับแก่มาตากแดดให้แห้ง แล้วเอาไปแช่น้ำในบ่อซีเมนต์นาน 70 วัน เพื่อให้เมล็ดพร้อมที่จะงอก จากนั้นจะเอาไปเพาะลงแปลงในที่ร่มใช้ดินร่วนแล้วกลบด้วยทรายรดน้ำพอให้ชื้น ใช้เวลา 8 วันต้นกล้าก็จะโตเต็มที่ ความสูง 6 นิ้ว ก็จะถอนต้นอ่อนเอาไปขายส่งในตลาด

           ช่วงนี้ขายได้กิโลฯ ละ 120 บาท หากเป็นช่วงหน้าแล้งผักกระชับออกน้อยราคาขายส่งประมาณ 150 บาท วันหนึ่งจะถอนผักกระชับขายได้ประมาณ 7 กิโลฯ และเก็บขายได้ตลอดทั้งปี” นายประสานเล่า

           พร้อมขยายความว่า อาชีพปลูกผักกระชับทำรายได้ให้ครอบครัวเดือนหนึ่งประมาณ 3 หมื่นบาท โดยแปลงเพาะ 1 แปลงจะเก็บต้นอ่อนได้ราว 10 กิโลกรัม/วัน หากมีบ่อแช่เมล็ดกระชับหลายบ่อ มีแปลงเพาะหลายแปลง และมีเมล็ดพันธุ์สำรองก็จะทำให้เพาะขายได้ทั้งปี

           ปัจจุบันผักกระชับเป็นที่ต้องการของตลาดในท้องถิ่น โดยเฉพาะร้านอาหารริมทะเล  รีสอร์ทใน อ.แกลง และแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานเกษตรอินทรีย์ชื่อดังที่บ้านจำรุงต่างก็สั่งผักกระชับไปทำเป็นเมนูเด็ด  เช่น แกงส้มปลากะพงหรือกุ้งใส่ผักกระชับ ยำทะเลผักกระชับ ผักกระชับสดกินกับน้ำพริกกะปิและปลาทูทอด ผักกระชับผัดน้ำมันหอย ฯลฯ

          ทั้งนี้ นอกจากรสชาติของผักกระชับที่อร่อย หากินไม่ได้ทั่วไป และคำบอกเล่าแบบปากต่อปากในทำนองว่า“จะช่วยให้อวัยวะบางส่วนของผู้หญิงกระชับเหมือนชื่อผัก” จึงทำให้ผักกระชับกลายเป็นรายการอาหารที่ผู้มาเยือนเมืองแกลงไม่พลาดที่จะต้องลิ้มลอง

          อย่างไรก็ตาม  จากข้อมูลของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี  ซึ่งศึกษาเรื่องสมุนไพรพื้นบ้าน  ระบุว่ายังไม่พบการรายงานว่าผักกระชับมีสรรพคุณตามคำบอกเล่าดังกล่าว  ส่วนสรรพคุณดั้งเดิมนั้น  ชาวบ้านจะถอนทั้งรากมาต้มอาบเพื่อแก้พิษผื่นแพ้  ผิวหนังอักเสบ  และเอามาต้มกินในกรณีไซนัสอักเสบ นอกนั้นยังแก้อาการปวดฟันได้

          ถึงแม้จะไม่มีสรรพคุณพิเศษดังว่า แต่ด้วยรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ต้นอ่อนของผักกระชับจึงยังเป็นที่ต้องการของตลาด  อีกทั้งยังไม่มีคู่แข่ง  เพราะผักกระชับจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่น้ำกร่อย  หากเอาไปปลูกที่อื่นก็จะมีรสชาติขม 

          อีกทั้ง ขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์จนถึงช่วงถอนต้นอ่อนไปขายจะใช้เวลานานประมาณ 7 เดือนจึงทำให้ผักกระชับมีผลผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่หากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าผักกระชับจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทำรายได้ให้ครัวเรือนหนึ่งไม่ต่ำกว่าปีละ 2-3 แสนบาทเลยทีเดียว !!