
“มะลิ”1กำมือ!ลดความดัน-บำรุงหัวใจ!!
โดย - นายสวีสอง
นอกจากเป็นไม้ดอกหอมตัวแทนความบริสุทธิ์ผุดผ่องสัญลักษณ์ความรักใน“วันแม่” ใช้สื่อแทนความหมายถึง การเคารพบูชา ขอขมา แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ฯลฯ แล้ว “มะลิ” ยังมีสรรพคุณทางยาที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย
“มะลิ”พรรณไม้ปลูกประดับที่แทบทุกบ้านนิยมปลูกไว้เชยชมกลิ่นที่หอมชื่นใจ มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดีย และซาอุดิอาระเบีย ทว่า เข้ามาบ้านเรานับร้อยๆปี จนหลายคนคิดกันว่าเป็นไม้ดอกของไทย มีชื่อพื้นเมือง มะลิลา มะลิหลวง มะลิซ้อน มะลิขี้ไก่ มะลิหลวง มะลิป้อม ข้าวแตก เตียมูน
เป็นไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และไม้รอเลื้อย ในวงศ์ OLEACEAE ลำต้นตรงสูงประมาณ 5 ฟุต แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบๆ ลำต้น
ใบ มีทั้งใบเดี่ยวและใบรวม การจัดเรียงตัวของใบมีทั้งแบบใบอยู่ตรงกันข้าม ใบแบบสลับกัน
ดอก สีขาว กลีบดอกมีชั้นเดียวและหลายชั้น เป็นดอกเดี่ยวและดอกช่อดอกจะออกจากยอดหรือข้างกิ่งส่วนมากมีกลีบเลี้ยง 4-9 กลีบ กลีบดอกมี 4-9 กลีบ ออกดอกตลอดปี
ขยายพันธุ์ ปักชำหรือตอน ชอบดินร่วนซุย แสงแดดจัด ต้องการน้ำปานกลาง
สำหรับคนไทยเราแล้ว “มะลิ” ถูกมองเป็นไม้ดอกเลอค่า ที่ใช้ในโอกาสสำคัญๆดังที่กล่าวข้างต้น แต่ในโหมดสรรพคุณทางสมุนไพรนั้นอาจจะไม่ค่อยรู้กันมากนัก มาดูกันเลยดีกว่า
ในตำรับยาไทย ได้จัดให้มะลิอยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 5 (เบญจเกสร) พิกัดเกสรทั้ง7(สัตตเกสร) และพิกัดเกสรทั้ง9 (เนาวเกสร) กล่าวคือ ดอก ใบ และ รากมีประโยชน์ทางยารักษาอาการของโรคต่างๆ
“ดอก” นอกจากความหอมชื่นใจที่ช่วยทำให้จิตใจสงบและรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่งทุกครั้งที่ได้กลิ่น คนโบราณยังนิยมนำดอกมะลิมาลอยในขันน้ำหรือใส่ในขนมของหวานรับประทานทำให้ชื่นใจ
อีกทั้ง นำมาต้มน้ำดื่มช่วยดับพิษร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อ แก้ไข้หวัด ทำให้กระชุ่มกระชวย แก้โรคบิด อาการปวดท้อง บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต
โดยวิธีการคือนำดอกมะลิ 1กำมือ หรือ 1.5-3 กรัม ต้มให้พอเดือดดื่ม เช้า-เย็น และน้ำที่ต้มจนเดือดปล่อยให้เย็นนำมาล้างตา แก้เยื่อตาขาวอักเสบ ตาแดง เจ็บตา ได้อีกด้วย
หรือหากนำดอกมะลิสดมาตำให้ละเอียดยังสามารถรักษาแผลผุผอง แผลเรื้อรัง ฝีหนอง ผดผื่นคัน แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย หยุดการหลั่งของน้ำนม ถ้านำมาพอกบริเวณขมับสามารถช่วยแก้อาการปวดหัว บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หรือจะผสมใส่พิมเสน ใช้สุมหัวเด็กแก้ไข้หวัด แก้ตัวร้อนเป็นอย่างดี
“ใบ” มีสรรพคุณตัวยาคล้ายๆ ส่วนของ “ดอก” คือ ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย โดยการต้มด้วยใบสด 3-6 กรัม รับประทาน เช้า-เย็น
นอกจากนี้ ยังช่วยขับน้ำนมสตรี บำรุงสายตา และหากนำมาตำให้ละเอียดละลายกับน้ำปูนใส หรือน้ำมันมะพร้าว นำไปรนไฟ ใช้แต้มรักษาอาการฝีพุพอง แก้โรคผิวหนังเรื้อรัง ฟกช้ำ สมานแผลสด ลบรอยแผลเป็น ให้หายไวขึ้น และ
“ราก” หากนำรากแห้งมาฝนหรือต้มในปริมาณ 1 - 1.5 กรัม กับน้ำร้อนรับประทาน จะช่วยแก้อาการฟกช้ำ นอนไม่หลับ เคล็ดขัดยอก โรคเลือดออกตามไรฟัน รักษาหลอดลมอักเสบ ช่วยขับประจำเดือน ใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก แก้หอบหืด แก้ปวดศีรษะ
หากนำมาตำให้ละเอียดผสมกับสุราจนร้อน สามารถช่วยแก้อาการปวดฟัน หรือนำไปพอกบริเวณฟกช้ำหรือเคล็ดขัดยอก บรรเทาอาการเจ็บปวดได้เช่นกัน
ข้อควรระวัง - ต้องมั่นใจว่า ดอก ใบ ราก ที่จะนำมาต้มน้ำดื่ม ผ่านการล้างสะอาดเรียบร้อย และปราศจากสารเคมียาฆ่าแมลง!!