ข่าว

ดีเอสไอสางปมฆ่า..."นักการทูตซาอุฯ"

ดีเอสไอสางปมฆ่า..."นักการทูตซาอุฯ"

07 ส.ค. 2552

เหลืออีกเพียง 6 เดือนเท่านั้น คดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบียก็จะหมดอายุความ คดีที่ครั้งหนึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุฯ เกิดรอยปริร้าว มาวันนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่รับคดีจากตำรวจมาทำต่อได้ข้อสรุปแล้วว่า เป็นเรื่องความขัดแย้งระห

 นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติรับคดีฆาตกรรมนายอัลลุเลาะห์ เอ อัล เบซารีห์ เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 หน้าศรีวัฒนาอพาร์ตเม้นต์ เลขที่ 34/3 ตรงข้ามซอยเย็นอากาศ 2 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ ท้องที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ และก่อนเกิดเหตุราวๆ 10 นาที คนร้ายกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงนายฟาฮัด เอแซด อัลบาฮลี เลขานุการโท และนายอาหะหมัด เออัลชาอีพ ผู้ช่วยเลขานุการ สถานทูตซาอุดีอาระเบีย เสียชีวิต ซึ่งตามแนวทางการสืบสวนเชื่อว่าเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกัน

 ชุดสืบสวนของดีเอสไอเริ่มสืบสวนเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเรื่อยมา มีการเดินทางไปประเทศซาอุฯ หลายครั้ง เพื่อรวบรวมเบาะแสต่างๆ กระทั่งได้ข้อมูลมาว่าประมาณเดือนสิงหาคม 2530 มีรายงานว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านตึงเครียดถึงขีดสุด หลังจากชาวอิหร่านราว 1.5 แสนคน ที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญยังนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมตัวประท้วงรัฐบาลสหรัฐและอิสราเอล ด้วยการปิดกั้นทางเข้ามหาสุเหร่า ทำให้ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมนับล้านคนไม่สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ ส่งผลให้รัฐบาลซาอุฯ ส่งกำลังตำรวจเข้าสลายฝูงชน จนมีผู้เสียชีวิต 200 กว่าราย บาดเจ็บจำนวนมาก

 หลังเกิดเหตุ นายฮาเซมิ รัฟซันยานี ประธานรัฐสภาอิหร่านขณะนั้นกล่าวปราศรัยทางวิทยุเตหะราน โจมตีซาอุดีอาระเบียว่าถูกสหรัฐบงการ และอิหร่านจะไม่อดทนต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ จะเข้ายึดครองมหาวิหารศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาให้พ้นเงื้อมมืออันธพาล อีกทั้งขู่ใช้กองกำลังทหารยึดบ่อน้ำมัน เพื่อประโยชน์ของชาวมุสลิมทั่วโลก ส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดไปทั่วโลก ประเทศไทยเองก็ได้รับการประสานให้วางกำลังอารักขาสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย สหรัฐ ฝรั่งเศส คูเวต ตลอดจนดูแลประชาชนชาวซาอุฯ ในประเทศไทยเป็นพิเศษ

 เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ชุดสืบสวนจึงตรวจสอบเชิงลึกอย่างละเอียดทุกขั้นตอน โดยเฉพาะข้อมูลบุคคลในกลุ่มต้องสงสัย ที่เดินทางเข้าออกประเทศไทยในช่วงเกิดเหตุ ซึ่งกินเวลาค่อนข้างนานพอสมควร กระทั่งได้เบาะแสมาจากสายข่าวอีกสายว่า มีพยานเป็นคนไทย 3 คนในต่างประเทศรู้เห็นกับเหตุการณ์ยิงนักการทูตซาอุฯ ชุดสืบสวนจึงเดินทางไปสอบปากคำ พบว่าพยานทั้ง 3 รายนี้ร่วมรับรู้เห็นตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ ยันหลังเกิดเหตุ ให้การสอดคล้องต้องกันว่าผู้ต้องสงสัยในทีมสังหารมี "อาบู อาลี" ปัจจุบันอายุ 45 ปี ชาวอาหรับ เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันด้วย

 ชุดสืบสวนดีเอสไอจึงตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ช่วงเกิดเหตุฆาตกรรมนักการทูต พบว่า อาบู อาลี เข้ามาในประเทศไทยก่อนเกิดเหตุฆาตกรรม และหลังเกิดเหตุแล้วได้หลบหนีออกนอกประเทศทางภาคใต้ โดยข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนจะหายเข้ากลีบเมฆไปจนถึงปัจจุบัน
 
 "การสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประเด็นแตกต่างไปจากกรมตำรวจสมัยนั้น เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่าประเด็นการฆาตกรรมน่าจะมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศซาอุดีอาระเบียกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เพราะก่อนหน้าจะมีการฆาตกรรม เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ เคยมีหนังสือขอความร่วมมือมายังประเทศไทย ให้ช่วยดูแลเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวซาอุฯ ในไทย เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ซึ่งเคยเกิดเหตุมาแล้ว" พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ

 ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป ลักษณะ 1 บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป หมวด 9 อายุความ มาตรา 95 บัญญัติว่าในคดีอาญาถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ
 (1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
 (2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
 (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
 (4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
 (5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
 ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้ว นับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน