ข่าว

ทำไม... ไทยไม่ควรยกเลิกโทษประหาร

ทำไม... ไทยไม่ควรยกเลิกโทษประหาร

09 ก.ค. 2559

อดีตอธิบดีราชทัณฑ์ แนะ ไทยไม่ควรยกเลิกโทษประหาร ส่วนจะบังคับจริงหรือไม่ ต้องดูเป็นราย แนะโทษจำคุกตลอดชีวิตจริง เป็นเกราะสังคม ย้ำ ติดคุกนานเกิน 20 ปี ทรมานกว่า

 

          9 ก.ค. 59 - นายนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการกรองข่าววันเสาร์ เอฟเอ็ม 102 กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้ลงโทษประหารอย่างจริงจัง ว่า โทษประหารมีแนวคิดแยกเป็น 2 แนวทาง โดยกระแสสากลที่กดดันไปยังหลายประเทศทั่วโลกให้ยกเลิกโทษประหารแต่กระแสภายในประเทศ อาจมองว่า ประเทศที่มีปัญหาอาชญากรรมน้อยสามารถยกเลิกโทษประหารได้ แต่ในประเทศไทยสมควรให้มีการลงโทษที่สาสมกับความผิด เพราะอาชญากรรมยังมีมากเป็นปัญหาใหญ่ของสัมคม ในแต่ละประเทศมีบริบททางสังคมต่างกันจึงไม่สามารถยกเลิกโทษประหารให้เป็นไปตามสากลได้ ส่วนจะเลือกในแนวทางใดขึ้นอยู่กับว่าแรงกดดันด้านใดจะมีมากกว่ากัน ถ้ากระแสภายในประเทศยังแรงอยู่ การยกเลิกโทษประหารเป็นไปได้ยาก        

          “โดยส่วนตัว ผมเห็นควรให้คงโทษประหารไว้ ส่วนจะบังคับหรือไม่ต้องดูเป็นรายๆไป หรือสามารถใช้วิธีอื่นแทนการประหารชีวิตแต่ใช้ป้องกันสังคมได้ เช่น การจำคุกตลอดชีวิตจริง แต่จะต้องมีเรือนจำที่มั่นคงแข็งแรง เพราะสำหรับนักโทษที่หมดหวังจะมีแรงกดดันและพยายามแหกหักเรือนจำออกมา การติดคุกนานๆ เกินกว่า 20 ปี อาจทรมานกว่าตายในทันที เพราะติดคุกไม่สบาย มันลำบาก ส่วนกระแสคัดค้านโทษประหารโดยอ้างว่า อาจมีความผิดพลาดในการตัดสินคดีนั้นก็มีความเป็นไปได้ ท่ี่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน มีการประหารชีวิตนักโทษไปแล้ว ต่อมาภายหลังผลตรวจดีเอ็นเอพบว่านักโทษที่ถูกประหารไม่ได้กระทำความผิด”นายนัทธีกล่าว       

          อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า นักโทษที่ได้รับโทษจำคุกระยะยาว เช่น คดีฆ่าคนตาย ส่วนใหญ่ไม่ไ้ด้ทำผิดซ้ำ เพราะติดคุกนาน และกว่าออกมาก็ชราแล้ว แต่พวกออกมาแล้วทำผิดซ้ำเป็นกลุ่มรับโทษน้อย ติดคุกไม่กี่ปี เช่น คดีข่มขืนหรือลักเล็กขโมยน้อย เมื่อพ้นโทษออกมาจะทำผิดซ้ำ อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่า กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจลดโทษ การลดวีนต้องโทษหรือพักการลงโทษเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เมื่อนักโทษพ้นออกมาจะถูคุมประพฤติอีก 2-3 ปี ต้องรายงานตัวสม่ำเสมอ ซึ่งกลุ่มนี้จะกระทำผิดซ้ำน้อย เพราะมีการคุมประพฤติและผ่านการคัดกรองมาอย่างดี พักโทษปีละ 2,000 คน ขณะที่มีนักโทษพ้นโทษออกจากเรือนจำปีละ 20,000-30,000 คน ส่วนการอภัยโทษจำนวนมากนั้น เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งกำหนดว่านักโทษคดีใดบ้างควรได้รับการลดโทษ หากเห็นว่าคดีอุกฉกรรจ์ฆ่าข่มขืนไม่ควรได้รับการอภัยโทษก็สามารถระบุไปว่า ไม่ให้ได้รับสิทธิ์ ในส่วนนี้ราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิ หรืออำนาจในการกำหนดขึ้นอยู่กับรัฐบาล         

          นายนัทธี กล่าวถึงโปรแกรมเยียวยาผู้ต้องขังว่า การเยียวยาขึ้นอยู่กับประเภทคดียาเสพติดจะใช้ชุมชนบำบัด หรือเพื่อนเตือนเพื่อน ความผิดเกี่ยวกับเพศมีโปรแกรมเฉพาะบำบัดผู้กระทำผิดทางเพศ มีนักจิตวิทยาจะเข้าไประเมินสภาวะทางจิตแต่ก็มีปัญหานักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ขาดแคลนจึงทำได้ไม่ทั่วถึงทุกเรือนจำ ส่วนความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ลักขโมย ใช้อาชีวะบำบัด ร่วมด้วยการบำบัดจิตด้วยการปฏิบัติธรรมต่อเนื่อง ให้การศึกษา และฝึกอาชีพ เป็นต้น