
"ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร" ท่องไปในป่าพรุผืนสุดท้ายของประเทศ
ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส หรือ ป่าพรุโต๊ะแดง เป็นป่าพรุผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของประเทศที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก สุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเ
สุชาดา ให้ความรู้ว่า ป่าพรุโต๊ะแดงเกิดจากการที่ลักษณะภูมิประเทศของ จ.นราธิวาส บริเวณชายฝั่งตะวันออกค่อนข้างเป็นแนวตรง และยกตัวสูงขึ้น ทั้งยังมีคลื่นลมแรงตลอดทั้งปีพัดพาเอาดินมากองเป็นเนินปิดกั้นเป็นแนวยาวตลอดชายฝั่ง
ยิ่งนานวันเนินทรายก็ยิ่งสูงขึ้น กว้างขึ้น และยาวขึ้นจนปิดกั้นชายฝั่งทำให้เกิดเป็น "แอ่งน้ำอิสระ" จากทะเลโดยสิ้นเชิง และมีการวิวัฒนาการอย่างช้าๆ จนกลายเป็น "ป่าพรุ" ขึ้นมา
ป่าพรุโต๊ะแดงอยู่ในแนวเทือกเขาต้นน้ำ คือ เทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี บริเวณทิศตะวันตกและทิศใต้ และค่อยๆ ลาดลงสู่พื้นทะเลในด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก มีภูมิอากาศแบบป่าดงดิบชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ย 2,690 มิลลิเมตรต่อปี
ป่าพรุโต๊ะแดง เป็นป่าชุมน้ำ (Wetland Forest) มีลักษณะพิเศษเฉพาะคือ มีต้นไม้ขึ้นบนชั้นของซากพืชในพื้นที่น้ำท่วมขังตลอดปี ถือเป็นป่าดงดิบชนิดหนึ่ง
จากข้อมูลการสำรวจในปี 2542 พบว่าปัจุบันพื้นที่ป่าพรุสมบูรณ์เหลืออยู่ในประเทศไทยประมาณ 56,447 ไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ อ.ยี่งอ อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ และ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เท่านั้น
นอกจากนี้ป่าพรุโต๊ะแดงยังสามารถจำแนกพื้นที่ออกเป็น 3 เขต คือ
1.เขตชั้นในสุด เป็นใจกลางของป่าพรุ เรียกว่า “เขตสงวน” (Preservation Zone) มีสภาพเป็นป่าดั้งเดิม มีเนื้อที่กว่า 52,519 ไร่ พบพันธุ์ไม้ขึ้นปะปนกันมากราว 437 ชนิด
2. เขตอนุรักษ์ (Conservation Zone) มีเนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ พันธุ์ไม้เด่นที่พบส่วนใหญ่มี 2 ชนิด คือ เสม็ดขาว และ มะฮัง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เบิกน้ำ (Pioneer Species)
3.เขตชั้นนอกสุด เป็น “เขตพัฒนา” (Development Zone) โดยเขตนี้ป่าพรุได้เปลี่ยนสภาพไปโดยสิ้นเชิงแล้ว เนื่องจากถูกไฟไหม้ซ้ำซากจนทำให้ชั้นของซากพืชหมดไป
"หากเปรียบไปแล้วป่าพรุโต๊ะแดงยังเปรียบเหมือนเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.นราธิวาส ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำและชะลอการไหลของน้ำในฤดูฝน แล้วค่อยๆ ระบายน้ำให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูแล้ง ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ได้จากสัตว์น้ำชนิดต่างๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่พบแล้วเกือบ 100 ชนิด" สุชาดา ย้ำถึงความสำคัญของป่าพรุ
ด้าน อะหมาน หมัดอาดัม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส กล่าวว่า ความงดงามและอุดมสมบูรณ์ของป่าพรุแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวธรรมดา แต่เป็นเหมือนสถานที่เก็บเรื่องราวในอดีตของซากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์และอื่นๆ ไว้เป็นชั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการศึกษาภูมิหลังของระบบนิเวศในพื้นที่ป่าพรุเป็นอย่างมาก
ลักษณะเด่นของป่าพรุที่เห็นได้ชัดเจน คือ น้ำในป่าพรุจะมีสีคล้าย "น้ำชา" ซึ่งเป็นสีของน้ำฝาด (น้ำตาลที่ได้จากการสลายตัวของพืช) มีรสเฝื่อนเล็กน้อย เพราะอินทรีย์วัตถุที่ย่อยสลายแล้วมีความเป็นกรดอ่อนๆ
ฉะนั้นน้ำในป่าพรุธรรมชาติจึงนำมาใช้บริโภคได้ ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ ทั้งยังนำมาใช้ในการกสิกรรม และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ผู้มาเยือนยังจะได้ตามรอย "เส้นทางปฐมเสด็จ" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเพื่อศึกษาธรรมชาติป่าพรุเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2533
โดยตลอดเส้นทางตามรอยเสด็จพระราชดำเนิน ปัจจุบันมีการพัฒนาเส้นทางใหม่ให้มีความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวตลอดระยะทางประมาณ 1,200 เมตร ซึ่งเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่เชื่อว่าจะสร้างความประทับใจอย่างมิรู้ลืมแน่นอน
"สุพิชฌาย์ จันต๊ะปา"