
ภาษาปีก!...ภาษาหาง!
โดย - รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร
“นก” นอกจากจะใช้เสียงสื่อสารระหว่างพวกเดียวกันเองแล้ว ยังใช้ภาษาที่เกิดจากการแสดงออกด้วยท่าทางเพื่อสร้างความเเข้าใจ ถ้าเทียบกับคนคงได้กับภาษามือ
แม้นกไม่มีภาษาตีนแต่ก็ใช้ ปาก หัว ลำตัว ปีกหาง เป็นอวัยวะที่แสดงท่าทางสื่อภาษา ซึ่งเราจะมาคุยกันวันนี้ เพื่อให้คนรักนก คนเลี้ยงนก ผู้สนใจ เข้าถึงอารมณ์ จิตใจ ความต้องการ ความหมายต่างๆ ที่มันแสดงออกผ่านการขยับปีก และหาง
“ภาษาปีก” : นอกจากปีกที่ใช้บินแล้วมันยังแสดงออกด้วยการขยับปีกลักษณะต่างๆ ดังนี้
ยักไหล่ ยกไหล่ ตีปีก : พฤติกรรมนี้เป็นการเรียกความสนใจจากผู้อื่น จะพบเห็นตั้งแต่ในลูกนก โดยการยกไหล่ขึ้นแล้วตีปีกพับๆพร้อมส่งเสียงลั่นเมื่อเห็นพ่อแม่ นั่นคือการเรียกร้องและขออาหารกิน เป็นมาจนถึงโต ความหมายอาจเปลี่ยนไปบ้าง เช่น ตีปีกอย่างเดียว อาจหมายถึง อารมณ์บ่จอย หงุดหงิด ฯลฯ
ปีกตก ห่อปีกชิดตัว : ในลูกนกคือเป็นปกติ ลูกนกจะทำปีกห่อแล้วเอาหัวซุกเข้าใต้ปีก ทว่า กรณีนกโตเต็มวัย ถือเป็นความเจ็บไข้ได้ป่วย หากเป็นนกน้ำจะทำท่าปีกตกเมื่อยืนผึ่งแดดหลังขึ้นจากน้ำเพื่อให้ปีกแห้ง
กระพือปีก : เป็นกิจกรรมของนกปกติ เมื่อมีปีกก็ต้องกระพือ เช่น เมื่อออกจากกรงมาสู่ภายนอกก็จะกระพือปีกเต็มที่เหมือนเราบิดขี้เกียจ หรือได้ยืดเส้นยืดสาย ฯลฯ
“ภาษาหาง” : เมื่อเฝ้ามองหางมันดีๆ ก็จะรู้ว่ากำลังสื่อสารอะไร
แกว่งหรือส่ายหาง : นกหลายๆ ชนิดส่ายหรือแกว่งหางด้วยความหมายเช่นเดียวกับหมา นั่นคือ แสดงความดีใจที่ได้พบหน้าคุณผู้เป็นเจ้าของ
กระดกหางขึ้นลง : พร้อมจังหวะการหายใจเข้าออก มักแสดงถึงความป่วยไข้ นั่นคือการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
แผ่ รำแพนหาง : เรามักคุ้นกับการรำแพนหางของนกยูงเพศผู้ นั่นคือพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี อันจะนำมาซึ่งการผสมพันธุ์
สำหรับนกเลี้ยงสวยงาม เช่น กระตั้ว แอฟริกันเกรย์ ที่แสดงท่าแผ่หาง นับเป็นทั้งการเกี้ยวพาราสี หรืออาจเป็นความก้าวร้าวก็ได้ เพราะทำให้ดูเหมือนว่าร่างกายของมันใหญ่โตน่าเกรงขามเพื่อข่มขู่ศัตรู ฯลฯ
การใช้ภาษาปีก ภาษาหางของนก มิใช่เป็นเพียงส่วนเดียวของร่างกายที่ใช้เพื่อการสื่อสาร ทว่า มันใช้ประกอบกับวิธีอื่นๆ เช่น เสียงร้อง ท่าทางการกระโดดโลดเต้น ฯลฯ
ท่านที่เลี้ยงนก จะเกิดความเป็นสุขและสนุกกับสัตว์เลี้ยงที่รักอย่างเต็มที่ หากพยายามทำความเข้าใจกับภาษาของมันที่สื่อกันเองและสื่อถึงคุณ
ลองใช้เวลาสังเกตดูสิครับ รับรองไม่ผิดหวัง!!