
11 กิจกรรมสานต่อเที่ยวไทยยั่งยืนได้โล่
อพท.มอบโล่ “ครีเอทีฟ ทัวริสซึ่ม ไทยแลนด์" ให้ 11 เจ้าของกิจกรรมในงานกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์รุ่นที่ 2
ยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการเฟ้นหาชุมชนช้างเผือก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. นำโดยประธานในพิธี วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ และ สุเทพ เกื้อสังข์ ผอ.สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนและรักษาการรองผู้อำนวยการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ศ.ดร.ประมวญ เทพชัยศรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย จัดงานแถลงข่าว กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์รุ่นที่ 2 พร้อมพิธีมอบตราสัญลักษณ์ “ครีเอทีฟ ทัวริสซึ่ม ไทยแลนด์" แก่เจ้าของกิจกรรมทั้ง 11 กิจกรรม เพื่อเป็นเกียรติประวัติและสานต่อการพัฒนาเพื่อสร้างรากฐานการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน พร้อมเปิดเวทีสนทนาในหัวข้อ “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ : เรียนรู้โลกด้วยการลงมือทำกับนักเดินทางรุ่นใหม่” โดยนักเดินทางรุ่นใหม่ชื่อดัง ที่ห้องแพลทตินัม ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงคอก ฟอร์จูน เมื่อวันก่อน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวว่า ทั้ง 11กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นั้น มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งในเชิงพื้นที่และกระบวนการ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ในจิตวิญญาณของพื้นที่ ผ่านการลงมือทำร่วมกันกับเจ้าของกิจกรรม ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตามความสนใจ ทางด้านเจ้าของกิจกรรมเองก็จะได้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และความจริงแท้ในพื้นที่ ผ่านการปฏิบัติจริง รวมถึง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ซึ่งมีความแตกต่างจากการท่องเที่ยวอื่น ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
“โดย 11 กิจกรรม ได้แก่ วิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน : ชุมชนแหลมกลัด จ.ตราด, ทอผ้าจกไทยพวน : สุนทรีผ้าไทย จ.สุโขทัย, ปั้นและเขียนลายสังคโลก : กะเณชาสังคโลก จ.สุโขทัย, ปั้นและเขียนลายสังคโลก : อุษาสังคโลก จ.สุโขทัย, ปั้นและเขียนลายสังคโลก : บัวสังคโลก จ.สุโขทัย, อาหารนครชุม : ชุมชนนครชุม จ.กำแพงเพชร, เขียนลวดลายหน้ากากผีตาโขน : ศรศักดิ์ เจริญทรัพย์ (ช่างจุก) อ.ด่านซ้าย จ.เลย, วิถีชีวิตไทดำบ้านนาป่าหนาด : ศูนย์วัฒนธรรมฅนไทดำ จ.เลย, ทำผาสาดลอยเคราะห์ : อมร ณรงค์ศักดิ์ (ป้านาง) อ.เชียงคาน จ. เลย, ปักผ้าหน้าหมอนโบราณเมืองน่าน : โฮงเจ้าฟองคำ จ.น่าน, หล่อเหรียญทวารวดีเมืองอู่ทอง : โรงหล่อวิเชียร จ.สุพรรณบุรี” ประธานกรรมการบริหาร อพท. กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ประมวญ เทพชัยศรี กล่าวว่า นับเป็นอีกความร่วมมือหนึ่งที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์จากการทำบันทึกข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมโดยรวม ผ่านการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้และนำผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ไปใช้ประโยชน์ โดยผ่านการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ซึ่งหัวใจสำคัญคือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม, การมีประสบการณ์ตรงในพื้นที่ท่องเที่ยว, การชื่นชมและเข้าใจจิตวิญญาณของพื้นที่ และการเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของตัวเองอย่างไม่สิ้นสุด ภายใต้การเปิดโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวได้ “เข้าใจ” “เข้าถึง” ผ่านการ “สัมผัส” และ “ลงมือทำ” โดยมีเป้าหมายของการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่พร้อมจะรับนักท่องเที่ยวให้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวีถีชีวิต ศิลปหัตถกรรม และมรดกวัฒนธรรมที่มีความน่าสนใจ
“ป้านาง” อมร ณรงค์ศักดิ์ เจ้าของกิจกรรมทำผาสาดลอยเคราะห์ ด้วยความภาคภูมิใจว่า การทำผาสาดคือวิถีชีวิตของชาวบ้านใน อ.เชียงคาน จ.เลย ที่สืบทอดมาจากรุ่นตาทวดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เวลาที่ชาวบ้านมีความไม่สบายใจก็จะมาหาผู้เฒ่าผู้แก่ให้ช่วยทำพิธีกรรมตรงนี้ให้ ดังนั้นจึงสามารถทำได้ทุกช่วงของปี ต่างจากพิธีลอยกระทงที่มีเพียงปีละครั้ง ถึงเป็นวิถีที่ทำกันมายาวนาน แต่ก็มีคนหลงลืมไปบ้างตามกาลเวลา จนกระทั่งท้องถิ่นชุมชนเชียงคานนำมาจัดกิจกรรมด้วยการผนวกเข้าไปกับเทศกาลออกพรรษาของเมืองเชียงคาน ตอนงานเชียงคานร้อยปี จากนั้นก็ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเรื่อยมา โดยการจับกลุ่มกับชุมชนจัดทำผาสาดลอยเคราะห์ไว้ค่อยให้บริการนักท่องเที่ยว จนกระทั่งเข้าร่วมกับ อพท.และ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเน้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน จึงได้แนวคิดถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านกระบวนการเรียนนั่นคือ เปิดสอนขั้นตอนการทำผาสาดลอยเคราะห์แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจ ทำให้วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นสืบทอดต่อไป