ข่าว

ลวะปุระ ละโว้ และลพบุรี

ลวะปุระ ละโว้ และลพบุรี

05 ส.ค. 2552

ลพบุรี เดิมเคยรู้จักกันในชื่อ ละโว้ หรือ ลวะปุระ พบหลักฐานเป็นจารึกบนเหรียญเงินสมัยทวารวดีพบที่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และจารึกภาษาขอม พบที่ศาลพระกาฬ (จารึกหลักที่ 21) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 (หรือหลัง พ.ศ.1500) ได้กล่าวถึงชื่อ “เมืองละโว้” ส่วนในตำนานมู

  นอกจากนี้ในจดหมายเหตุของชาวจีน ในพุทธศตวรรษที่ 18-19 (ประมาณ พ.ศ.1700-1900) ก็ได้กล่าวถึงชื่อเมือง “หลอฮก” ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าหมายถึง เมืองละโว้

 ชื่อเมืองละโว้ ยังคงปรากฏอยู่จนกระทั่งสมัยอยุธยา ทั้งในเอกสารของอยุธยาเองหรือในบันทึกชาวต่างชาติที่เข้ามาก็ยังเรียกชื่อเมืองนี้ในบันทึกของตนว่า ละโว้

 หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่แสดงว่า เมืองละโว้ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ลพบุรี” มีปรากฏอยู่ในพงศาวดารเหนือ กล่าวว่า เมืองละโว้เป็นเมืองที่พระยากาฬวรรณดิศสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1002 ต่อมาราว พ.ศ.1612 พระนารายณ์พระโอรสของพระเจ้าจันทโชติได้สร้างพระปรางค์เมืองละโว้ขึ้น แล้วขนานนามเมืองใหม่ว่า ลพบุรี

 ความหมายของคำว่า ละโว้ หรือ ลวะปุระ นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นคำมาจากคำว่า ลัวะ หรือ ละว้า ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่เคยเป็นเจ้าของดินแดนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อน

 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 6 ทรงสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากชื่อ เมืองลวะปุระ ของอินเดียมากกว่า และเมืองลวะปุระนี้อาจผันมาเป็นลพบุรี ซึ่งหมายถึง เมืองของพระลวะ หรือพระลพ ผู้เป็นโอรสของพระราม
     
" เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"