ข่าว

ตามผู้ว่าฯศรีสะเกษตระเวนชมสวนทุเรียนพันธุ์ดี

ตามผู้ว่าฯศรีสะเกษตระเวนชมสวนทุเรียนพันธุ์ดี

12 มิ.ย. 2559

บายไลน์ - สุรัตน์ อัตตะ

               จ.ศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดและภาคีเครือข่ายชวนนักท่องเที่ยวร่วมชิมเงาะ-ทุเรียน และเลือกซื้อผลิตผลของดีเมืองศรีสะเกษในงาน “เทศกาลเงาะ-ทุเรียน และของดีศรีสะเกษ” ประจำปี 2559 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-19 มิถุนายน ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ   ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง นับเป็นผลิตผลทางการเกษตร มีคุณภาพสูง ที่ปลูกอยู่ในบริเวณบ้านซำตารมย์ อ.กันทรลักษ์ และบ้านซำขี้เหล็ก อ.ขุนหาญ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ จุดเด่นเนื้อแน่น รสชาติหอมหวานมัน ไส้แห้ง จนเป็นที่รับรู้และยอมรับของผู้บริโภคในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีผลิตผลทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ทั้งเงาะ มังคุด ลำไย ลองกอง กระท้อน สะตอ ฝรั่ง ข้าวโพด หรือแม้แต่หอม-กระเทียมที่ขึ้นชื่อโด่งดังไปทั่วประเทศด้วย

               “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ตามผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ “ธวัช สุระบาล” พร้อมคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตระเวนเยี่ยมชมสวนทุเรียนและของดีศรีสะเกษ โดยเริ่มจากสวนทุเรียนหมอนทองของ สมคิด บัวใหญ่ บ้านซำขี้เหล็ก หมู่ 10 ต.พราน อ.ขุนหาญ มีการตั้งวงเสวนาปัญหาทุเรียนศรีสะเกษที่เกิดขึ้นจากอดีตจนปัจจุบัน โดย รพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัด พร้อมผู้นำชาวบ้านและเกษตรกรเจ้าของทุเรียนประกอบด้วย ธนกฤติ พรหมจันทร์ กำนันตำบลพราน สมคิด บัวใหญ่ เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนหมอนทอง 

               สมคิด บอกว่า ปลุกทุเรียนมากว่า 15 ปีแล้ว โดยใช้พันธุ์หมอนทองทั้งหมด เนื่องจากขายได้ราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันมีทุเรียนพันธุ์หมอนทองปลูกประมาณ 200 กว่าต้น บนเนื้อที่ 30 ไร่ มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นโรครากเน่าโคนเน่า 

              “แต่ก่อนจะปลูกข้าวโพด ทำไร่มันสำปะหลัง จากนั้นก็มาเปลี่ยนทดลองปลูกทุเรียนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอขุนหาญ ไม่กี่ต้น เอาพันธุ์มาจากจันทบุรี ปรากฏว่าทำรายได้ดีกว่าปลูกข้าวโพด ปลูกมัน จากนั้นก็เอาทุเรียนมาปลูกเต็มพื้นที่ ต่อมาชาวบ้านก็หันมาปลูกทุเรียนกันทั้งหมู่บ้าน" สมคิดย้อนอดีตให้ฟังระหว่างนำเยี่ยมชมสวน พร้อมย้ำว่า ปีนี้ทุเรียนให้ผลผลิตน้อยกว่าทุกปี เนื่องมาจากปัญหาสภาพอากาศที่แห้งแล้งยาวนาน  

              ขณะที่รพีทัศน์ให้ข้อมูลว่า ทุเรียนศรีสะเกษมีจุดเด่นเป็นของตัวเอง รสชาติอร่อยหวานมัน ไม่เหมือนที่อื่น เนื่องจากแหล่งปลูกเป็นพื้นที่ภูเขาไฟเก่า มีแร่ธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ทุเรียนศรีสะเกษมีราคาแพงกว่าทุเรียนทั่วไป ขณะเดียวกันที่ผ่านมาก็มีปัญหามีพ่อค้าแม่ค้านำทุเรียนจากที่อื่นมาสวมรอยเป็นทุเรียนศรีสะเกษทำให้เกิดปัญหาลูกค้าโดนหลอก ทำให้ปีนี้มีการใช้มาตรการอย่างเด็ดขาดหากพบเห็นสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ทันที

              “เป็นคำสั่งของท่านผู้ว่าฯ ธวัช  ที่จะเอาผิดกับพ่อค้าแม่ค้าที่สวมรอยเอาทุเรียนจากที่อื่นมาขายและใช้คำว่าทุเรียนศรีสะเกษอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากหลอกลวงผู้บริโภคแล้วยังทำให้ภาพลักษณ์ของจังหวัดเสียหายด้วย” หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ฯ คนเดิมระบุ

              หลังเสร็จสิ้นตั้งวงเสวนาปัญหาทุเรียนจากนั้นก็มาเยี่ยมชมสวนลุงเสริม หาญชนะ เจ้าของสวนทุเรียนหมอนทองที่ถูกยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้สวนผลไม้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงประจำ อ.ขุนหาญ ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้าเยี่ยมชม พร้อมชิมผลไม้สดๆ จากสวนด้วย  

               จากนั้นแวะมาที่สวนทศพล สุวะจันทร์ ที่ได้หันมาปลูกทุเรียนและเงาะรายแรกๆ ของบ้านซำตารมย์ อ.กันทรลักษ์ ที่ปัจจุบันเจ้าของสวนรั้งตำแหน่งประธานกลุ่มไม้ผลคุณภาพดีและกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านซำตารมย์อีกด้วย ก่อนจะแวะไปยังฟาร์มโคขุนเบญจลักษ์และกลุ่มเครือข่ายผู้เลี้ยงโคขุน ซึ่งโคเนื้อที่ทางจังหวัดสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงอย่างเป็นลำเป็นสันเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยมี ผ่อง ทองสุข เจ้าของฟาร์ม บรรยายสรุปความเป็นมาของฟาร์มพร้อมการส่งเสริมการเลี้ยงแก่สมาชิก 

               วันต่อมาผู้ว่าฯ พาไปตะลอนเยี่ยมสหกรณ์โคนมศรีสะเกษ จำกัด ที่บ้านโนนหล่อง ต.หนองไฮ อ.เมืองศรีสะเกษ โดยมีประธานสหกรณ์ อัครวุฒิ ปาณาดี พร้อมคณะกรรมการต้อนรับกล่าวบรรยายสรุปการดำเนินงานของสหกรณ์ที่ผ่านมา ปัจจุบันผลผลิตน้ำนมดิบที่ได้วันละ 1,000 ตัน ส่งให้แก่บริษัทผลิตนมยูเอชทีรายใหญ่หลายรายและอนาคตทางสหกรณ์จะลงทุนผลิตนมสำเร็จรูปเองเพื่อความยั่งยืนของสหกรณ์และสมาชิก

               เสร็จแล้วก็มุ่งหน้าไปยังบ้านอะล่าง ต.โคกจาน อ.อุทุมพรพิสัย แหล่งผลิตผ้าไหมทอมือที่เป็นมรดกจากภูมิปัญญาถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน ภายใต้กลุ่มผ้าไหมทอมือบ้านอะล่าง ปัจจุบันมี สมบูรณ์ เพ็งพันธุ์ รั้งตำแหน่งประธานกลุ่ม โดยผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือสามารถทำรายได้เข้ากลุ่มเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน 

               “การทอผ้าไหมถือเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้หลักก็ว่าได้ ผู้หญิงที่นี่จะรู้จักการทอผ้ามาตั้งแต่เด็กมีการทอผ้าไหมเกือบทุกครัวเรือน โดยผู้หญิงจะทอผ้า ส่วนผู้ชายจะทำเครื่องสาน จนกลายเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนบ้านอะล่างไปแล้ว” สมบูรณ์กล่าวทิ้งท้าย

                 นี่เป็นส่วนหนึ่งของการตระเวนสวนผลไม้และของดีศรีสะเกษที่จะนำผลผลิตมาจัดแสดงในงาน “เทศกาลเงาะ-ทุเรียน และของดีศรีสะเกษ” ประจำปี 2559 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-19 มิถุนายน ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ