ข่าว

“อย่าให้ใครว่า คนมิตรผล ฟุ้งเฟ้อ”

“อย่าให้ใครว่า คนมิตรผล ฟุ้งเฟ้อ”

10 พ.ค. 2559

‘กลุ่มมิตรผล’ ภาคีเครือข่ายอนาคตไทย ผลักดันพฤติกรรมไร้หนี้ให้พนักงานในองค์กร

กลุ่มมิตรผล หนึ่งในภาคีเครือข่ายอนาคตไทย ร่วมรณรงค์ “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ” ชูประเด็นปรับทัศนคติและสร้างค่านิยม “ลดความฟุ้งเฟ้อ” หวังแก้ไขปัญหาภาระหนี้ให้แก่พนักงานกลุ่มมิตรผลอย่างเป็นระบบและให้เกิดความยั่งยืน ผ่านโครงการ “ปลอดหนี้ ชีวีมีสุข” เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ช่วยเหลือพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามหลัก “ชีวิตที่พอเพียง”   

เครือข่ายอนาคตไทย เป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมรณรงค์ระดับประเทศ Thailand Campaign ภายใต้ชื่อ "อย่าให้ใครว่าไทย" มุ่งกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติลดเลิกพฤติกรรมเชิงลบ (โกง ฟุ้งเฟ้อ มักง่าย ขาดสติ )  โดย 6 องค์กรหลักผู้ริเริ่ม ได้แก่                 มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและสภาหอการค้าไทย ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายรวม 105 องค์กร  “กลุ่มมิตรผล” ถือเป็นอีกหนึ่งภาคีเข้มแข็งที่ร่วมขับเคลื่อนภารกิจเครือข่ายอนาคตไทย โดยมีการสร้างแคมเปญรณรงค์สำหรับกลุ่มพนักงานภายในองค์กรโดยใช้ชื่อว่า  “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ” เพื่อรณรงค์ให้พนักงานมีการใช้จ่ายที่เหมาะสม และลดภาระหนี้สินของพนักงาน

ที่มา “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ”

คุณคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงที่มาของแคมเปญ “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ” ว่ามีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่การพิจารณาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายอนาคตไทย ด้วยเห็นว่า แคมเปญ “อย่าให้ใครว่าไทย” โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความฟุ้งเฟ้อ มีความสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล ที่ดำเนินการอยู่แล้วตามพื้นที่โดยรอบโรงงานน้ำตาลมิตรผลจำนวน 9 ตำบล ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เลย ชัยภูมิ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และขอนแก่น เพื่อพัฒนาให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  สุขภาวะ และคุณธรรม จึงได้เริ่มนำเรื่องลดความฟุ้งเฟ้อเข้ามาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง   

“เราพบว่าในเชิงเศรษฐกิจของคนในชุมชนกว่า 90% ซื้อของกินทุกอย่างจากรถขายของและสินค้า  ทั้งที่ชาวบ้านเองมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่ไม่ได้ปลูกพืชผักกินเอง  ทำให้ชาวบ้านมีรายจ่ายมากกว่ารายได้  เราจึงคิดจัดตั้งกลุ่มเพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น  ตลอดจนเพิ่มรายได้จากอาชีพเสริม เช่น  ทำแปลงปลูกผักปลอดสารพิษ  ทำปุ๋ยหมัก  น้ำยาอเนกประสงค์  น้ำดื่มชุมชน รวมทั้งให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งโครงการได้ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นไปได้มาก” 

ความสำเร็จชุมชนยั่งยืน สู่ แคมเปญ “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผล ฟุ้งเฟ้อ”

ภายหลังจากโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ของชุมชน ประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งเห็นผลอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม  อย่างเช่นกรณีความสำเร็จของโครงการพัฒนาชุมชนพื้นที่ตำบลหนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด  ที่ได้ลงมือทำเกษตรแบบผสมผสานและหลุมพอเพียง พบว่า สมาชิกครัวเรือนอาสามีรายได้เพิ่มขึ้น 3 หมื่นบาท/ปี/ครัวเรือน  รวมทั้งยังมีพืชผักเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนทำให้สมาชิกครัวเรือนอาสาลดค่าใช้จ่ายประจำวันลงได้ถึง 10%

นอกจากนั้น พืชผักสวนครัวที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ยังสามารถแบ่งไปขายในตลาดนัด       สีเขียว ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน ช่วยลดหนี้สินลงได้ อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการโครงการน้ำดื่มชุมชน ยกตัวอย่างเช่น บ้านดอนชาติ ต.หนองใหญ่ ช่วยลดรายจ่ายค่าน้ำดื่มเฉลี่ย 244 บาท/ครัวเรือน และทำให้สมาชิกครัวเรือนในชุมชนสามารถมีน้ำสะอาดดื่มอย่างเพียงพอเฉลี่ย 5 ลิตร/วัน/คน

จากความสำเร็จของโครงการดังกล่าวนี้เอง  ทำให้คณะผู้บริหารหันกลับมาตั้งคำถามถึงปัญหาของคนภายในองค์กรเองที่ก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน บริษัทจึงเริ่มจากการสำรวจภาระหนี้สินของพนักงานในเครือทั้งหมดราว  5,000 คน พบว่า มีพนักงานถึง 600 คนที่เข้าข่ายมีหนี้สินเกินตัว  มีรายได้ไม่พอรายจ่าย เนื่องจากการมีหนี้นอกระบบและหนี้บัตรเครดิตต่างๆ  คิดเป็นมูลค่าหนี้กว่า 200 ล้านบาท ทีเดียว  ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงได้คิดกิจกรรม “ลดฟุ้งเฟ้อ” ผ่านโครงการ “ปลอดหนี้ ชีวีมีสุข” ขับเคลื่อนแคมเปญ “อย่าให้ใครว่าคนมิตรผลฟุ้งเฟ้อ” เพื่อรณรงค์ให้พนักงานมีการใช้จ่ายที่เหมาะสม  ลดความฟุ้งเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานสมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 200-300 คน กว่า 100 ครัวเรือน

ส่วนวิธีการดำเนินโครงการปลอดหนี้ ชีวิตมีสุข  คุณคมกริช กล่าวว่า บริษัทเริ่มจากการปรับทัศนคติให้ความรู้เรื่องการจัดการหนี้ก่อน เช่น การปลูกฝังความคิดเรื่องปลอดหนี้ชีวีมีสุข  การบรรยายกลุ่มย่อยเรื่องชีวิตพอเพียง  ส่วนการบริหารจัดการหนี้ มีการจัดที่ปรึกษาบริหารจัดการหนี้ อย่าง “โจ-มณฑานี ตันติสุข”              ผู้ประกาศข่าวมากความสามารถ ที่ในอดีตมีปัญหาหนี้สินมากมายจากคนเกือบล้มละลาย ก้าวสู่แท่นผู้รู้หรือ “กูรู” ทางการเงิน มาสร้างแรงบันดาลใจ และความเข้าใจในแนวทางการพิชิตหนี้ให้แก่พนักงานทั้งกลุ่มวิกฤติและไม่วิกฤติ 

จากนั้นจึงมา “พัฒนาคุณภาพชีวิต” พนักงานให้ดีขึ้นตามหลักการชีวิตที่พอเพียง  โดยเน้น “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้”  เช่น การลดรายจ่ายด้วยการจัดทำบัญชีครัวเรือน  ส่งเสริมการออม  ส่วนช่องทางเพิ่มรายได้ให้แก่พนักงานและครอบครัว เช่น ทำแปลงเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษในพื้นที่โรงงาน  การฝึกอาชีพ  ตั้งชมรมแม่บ้าน  จัดให้มีตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น    

ทั้งนี้ บริษัทยังได้มีการจัดตั้งกองทุนจากเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายน้ำมันจากปั้มน้ำมันที่บริษัทได้จัดไว้ให้สำหรับรถขนอ้อยในแต่ละโรงงาน เพื่อใช้เป็นงบประมาณในกิจกรรมของโครงการ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงาน  และปรับปรุงสภาพแวดล้อม มุมพักผ่อน โรงอาหาร บ้านพักพนักงาน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

“เราเริ่มโครงการปลอดหนี้ ชีวีมีสุข กับพนักงานที่สมัครใจเข้ามาหาเรา  มีความกล้าเปิดเผยหนี้สิน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของตัวเองและครอบครัว ตลอดจนการเข้าโปรแกรมสัญญาและสาบาน เพื่อปลดหนี้สินของครอบครัว และหาช่องทางสร้างรายได้เสริม”

คุณคมกริช นาคะลักษณ์  ยังกล่าวถึงเป้าหมายของโครงการว่า  ณ ปัจจุบันในส่วนของพนักงานภายในองค์กรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการได้มีการปลดหนี้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องเดินหน้าต่อไปให้ครอบคลุมทั่วถึง และสำหรับชุมชนรอบโรงงานของเรา เราต้องการขยายผลจาก 9 ตำบลให้เพิ่มเป็น 24 ตำบล เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น  ขณะเดียวกันก็ต้องลดรายจ่ายลง  โดยกลุ่มบริษัทจะเน้นให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง  ด้วยการสนับสนุนให้แต่ละชุมชนจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนชุมชนให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน

“ผมเชื่อว่าการลดความฟุ้งเฟ้อ เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีชีวิตของคนเรา จึงต้องแก้ไขกันที่ตัวเราทุกคนก่อน  ไม่ต้องรอใคร ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายใหม่ ไม่ฟุ่มเฟือย และหารายได้เสริม”

สุดท้าย คุณคมกริช อยากเชิญชวนองค์กรต่างๆให้เข้ามาร่วมเครือข่าย ว่า แคมเปญอย่าให้ใครว่าไทย  เป็นการเตือนสติ  สร้างจิตสำนึกว่า สังคมจะดีได้ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน  ถ้าอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น  ก็ไม่ต้องรอใคร แต่ให้ลุกขึ้นมาลงมือทำเลย หรือเข้ามาเป็นเครือข่ายร่วมกับ 105 องค์กรได้ เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่นต่อไป