ข่าว

อาสามาเป็น‘ประธาน กกต.’ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

อาสามาเป็น‘ประธาน กกต.’ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

04 มิ.ย. 2559

ประธานกรรมการการเลือกตั้งยืนยันหนักแน่นว่า พร้อมทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง และจัดแสดงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเต็มที่ ด้วยประสบการณ์ 18 ปี ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

            ที่ได้การจัดการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งหลายหน และจัดประชามติ เป็นครั้งที่ 2 มีประสบการณ์การทำงานพอสมควร

             ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า ถ้าเทียบแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังเข้าสู่ยุค “วัยรุ่นทีนเอจ” กกต.ทุกคนยังสู้ ทั้งผู้บริหาร หรือพนักงานที่ทำงานมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นองค์กรอิสระ มีประสบการณ์ ก่อนมารับตำแหน่งประธาน กกต. ก็เคยทำงานเลือกตั้งที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มาก่อน เคยจัดการเลือกตั้งมาแล้ว จึงไม่ต้องกังวล กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามหน้าที่ทันที

            "ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ไม่กลัวอะไรอีกแล้ว ตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งประธาน กกต. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ก็เกิดเหตุการณ์ตื่นเต้นทางการเมือง มีพระราชกฤษฎีกาจากรัฐบาล กำหนดเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กำหนดให้เปิดรับสมัคร 23 ธันวาคม 2556 เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ผมได้รับการแต่งตั้ง ขณะเดียวกัน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มประท้วงรัฐบาล “กปปส.” มายื่นหนังสือขอให้งดจัดการเลือกตั้ง รอให้ปฏิรูปก่อน จึงเลือกตั้ง รัฐบาลในขณะนี้ นายกรัฐมนตรี คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี ได้ขอพบ เพื่อยืนยันให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง และเหตุการณ์ตื่นเต้นก็เกิดขึ้น ในวันแรกของการรับสมัครผู้ลงสมัครเลือกตํ้ง ที่กรุงเทพฯ กกต.เปิดรับสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่สนามกีฬาดินแดง ไทย-ญี่ปุ่น กลุ่ม กปปส.ไปชุมนุมปิดล้อม แล้วถอนตัวออก ก็มีกลุ่มประท้วงอีก ถูกปิดล้อมสถานที่รับสมัคร ทำให้รับสมัครต่อไม่สำเร็จ ต้องถอนตัว แต่วันสุดท้ายของการรับสมัครคือวันที่ 26 ธันวาคม 2556 มีผู้สมัครจากพรรคการเมืองเข้าสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ภายนอกห้องสมัคร เกิดการปะทะกันรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต กลิ่นแก๊สน้ำตารุนแรง จนเจ้าหน้าที่และผม ที่อยู่ในสนามกีฬา ได้กลิ่นแก๊สน้ำตา แต่ก็ต้องดำเนินการจนกระทั่งจับสลากเสร็จ ผมออกมานอกพื้นที่ไม่ได้ ตำรวจจัดให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกมา ส่วนรถประจำตำแหน่งของผม และรถอื่นๆ ถูกผู้ชุมนุมทุบ กรีด และทำลาย เสียหายไปหลายคัน" ประธาน กกต. ย้อนความทรงจำให้ฟัง

            ประธานศุภชัย เล่าต่อว่า หลังจากเดินทางกลับออกมา ก็กลับไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเปิดแถลงข่าวว่า เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นแล้ว กกต.เห็นควรให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยืนยันให้จัดการเลือกตั้งต่อไป เมื่อยังไม่มี พ.ร.ก.ให้จัดเลือกตั้ง รัฐบาลไม่มี พ.ร.ก.ให้ยกเลิกการเลือกตั้ง กกต.จึงต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป แต่มีปัญหาเปิดรับสมัครไม่ได้ มีการคัดค้าน เริ่มจากการพิมพ์บัตรรับสมัคร ทางผู้ชุมนุม กปปส.ก็ไปประท้วงที่สถานที่พิมพ์บัตร ในที่สุดก็พยายามทำตามกรอบกฎหมาย แก้ปัญหาว่า ใน 28 เขต ไม่สามารถเปิดรับสมัครจัดการเลือกตั้งได้ กกต.จึงได้หารือกับฝ่ายกฎหมาย ว่าจะตัดสินใจเปิดรับสมัครอีกครั้ง หรือจะขยายเวลาเลือกตั้งออกไป นี่เป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ เพราะการเลือกตั้ง “ไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร” จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ รัฐบาลต้องการเลือกตั้งโดยเร็ว ให้เลือกตั้งวันที่ 21 พฤษภาคม  แต่การเลือกตั้งก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย จนบัดนี้

              “เมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เชิญวุฒิสมาชิก กกต. รัฐบาล ฝ่ายค้าน นปช. กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ไปหารือ เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ทางการเมือง ที่กองทัพบก แต่ตกลงกันไม่ได้ หัวหน้า คสช. จึงให้การบ้าน 5 ข้อ กลับไปช่วยกันพิจารณา แล้วรุ่งขึ้นประชุมใหม่ พอวันรุ่งขึ้นทุกฝ่ายมาประชุมใหม่อีกครั้ง คราวนี้ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าที่ประชุมทั้งสิ้น แต่ในที่สุด ที่ประชุมตกลงกันไม่ได้ คสช.จึงประกาศยึดอำนาจในวันนั้นเลย ความจริง กกต.ก็ต้องถูกยุบไปด้วย แต่ คสช.ให้ยกร่างประกาศให้องค์กรอิสระ มีผลใช้บังคับต่อไป กกต. ในฐานะองค์กรอิสระ จึงดำรงอยู่ และปฏิบัติตามหน้าที่ต่อไป ตั้งแต่ประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้นมา ไม่มีการเลือกตั้งทั่วไป”

            ประธาน กกต. กล่าวอีกว่า และหน้าที่ครั้งแรกในงานระดับชาติตั้งแต่ คสช.เข้ามาควบคุมดูแล คือ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งขณะนี้การเตรียมการของ กกต. พร้อมแล้ว โดยมีการมีการจัดพิมพ์ ร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำอธิบาย จำนวน 1 ล้านชุด นอกจากนี้ ยังมีการพิมพ์ คำอธิบายร่างฯ อีก 2 เล่ม ได้แก่ รูปแบบสาระสำคัญ และรูปแบบการ์ตูน โดยจัดพิมพ์เล่มละ 4 ล้านฉบับ แจกจ่ายไปยังผู้มีสิทธิลงประชามติ และยังมี การจัดทำประเด็นคำถามเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิมพ์แจกจ่ายอีก 4 ล้านชุด

              "เอกสารเหล่านี้ จะถูกส่งไปให้คณะกรรมาธิการ และ สนช. เพื่อนำไปแจกให้ประชาชน นอกจากนี้ ยังนำไปแจกจ่ายตามที่ว่าการอำเภอ ศาลากลาง หรือสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาจัดการ หมายถึงการทำ แอพพลิเคชั่น "ฉลาดรู้ประชามติ” ในร่างรัฐธรรมนูญ ภายในแอพมีสรุปสาระสำคัญไว้ครบ นอกจากนี้ ได้จัดทำคู่มือเล่มเล็กๆ บอกถึงวิธีการออกเสียงประชามติ สรุปย่อลงไปประเด็นสั้นๆ แจกไปพร้อมกับจดหมายที่ส่งไปถึงเจ้าบ้านทุกครัวเรือน" ประธานศุภชัย กล่าว

            สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างถิ่นกับทะเบียนบ้าน ก็มีสิทธิใช้เทคโนโลยี การลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียง ก็สามารถลงทะเบียนที่ภูมิลำเนา หรือลงทางอินเทอร์เน็ต เพียงกดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ชื่อก็จะปรากฏขึ้นมา สามารถขอใช้สิทธิได้ แต่ผู้แจ้งต้องไปเลือกตั้งที่หน่วยเลือกที่แจ้งไว้ล่วงหน้าด้วย ที่สำคัญการใช้แอพพลิเคชั่นยังแก้ปัญหารายชื่อตกค้างที่สะสม เพื่อให้ลงทะเบียนเป็นครั้งๆ ไปได้ คนไปทำงานต่างถิ่น หรืออยู่ต่างประเทศ มาเลือกตั้งไม่ได้ เมื่อมาลงชื่อในแอพ ก็จะมีสิทธิลงประชามติได้

            นอกจากนี้ ยังมี แอพ "ดาวเหนือ” ที่สามารถตรวจสอบว่า บ้านอยู่ที่ไหน เลขประจำตัวอะไร และยังมีแจ้งเส้นทางไปหน่วยเลือกตั้ง ใช้เวลาเท่าไร ให้อีกด้วย หรือจะเป็นแอพ "ตาสับปะรด” ที่ใช้สำหรับตรวจรับแจ้งว่า มีเหตุทุจริตการเลือกตั้ง หรือการทำประชามติ พบเห็นหลักฐานการซื้อสิทธิขายเสียง เพราะเชื่อว่า เมื่อผู้ใช้สมาร์ทโฟนพบเห็นก็ถ่ายภาพเก็บไว้ หรืออัดเทป อัดคลิป แจ้งไปยัง กกต.ได้ หรือจะใช้ ไลน์ (Line) มาที่ กกต. เพื่อตรวจสอบ ก็ได้ เป็นการช่วย กกต.ขจัดการทุจริต การซื้อสิทธิขายเสียง ได้เป็นอย่างดี

              "นี่คือ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ที่นำมาใช้ในการจัดการเลือกตั้ง หรือการทำประชามติ ของร่างรัฐธรรมนูญ และทำให้สามารถรู้ผลเร็ว คาดว่า นับคะแนน 3 ชั่วโมง ก็น่าจะเสร็จ คราวนี้ล่ะ การลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอีกแล้ว"

              ปัญหาสำคัญของการจัดการเลือกตั้ง คือ การซื้อสิทธิขายเสียง ที่มีมานานแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เริ่มจาก “แจกข้าวของคืนหมาหอน” เรื่อยมาถึงเวลานี้ เป็น “ซื้อตลอดปี” ในรูปแบบการจัดทัศนศึกษา และอีกหลายรูปแบบ เราต้องร่วมมือกัน กกต.ฝ่ายเดียวแก้ปัญหาลำบาก ชาวบ้านไม่ร่วมมือ ไม่มาเป็นพยาน ก็ไม่มีพยานหลักฐานเอาผิดได้ แต่ในกฎหมายมีระบุไว้ว่า ถ้ามีเหตุเชื่อได้ว่าทำผิดกฎหมายจริง ก็เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้

              "การแก้ไข ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย แม้กระทั่งหน่วยราชการ ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนจะให้ความร่วมมือมากแค่ไหน พยานไม่กล้าไปเป็นพยานศาล เลือกตั้งเสร็จ กีมีอำนาจ มีอิทธิพล ประชาชนกลัวความไม่ปลอดภัย พ.ร.บ.คุ้มครองเฉพาะตอนก่อนและเบิกความ ไม่รวมถึงภายหลังการให้การ ในฐานะที่ กกต.มีหน้าที่ีควบคุมให้การเลือกตั้ง สุจริต เที่ยงธรรม ก็อยากเห็นการเลือกตั้ง ที่ประชาชนเข้าใจการปกครองประชาธิปไตย ต้องปฏิเสธการขายเสียงอย่างเด็ดขาด ประการสำคัญ ถ้าเราสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง มีความเป็นอยู่ดี เศรษฐกิจดี การซื้อสิทธิขายเสียง ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนก็จะไม่สนใจขายเสียง หากคนซื้อเสียงเข้าไปมีหน้าที่ มีอำนาจบริหาร ก็ต้องถอนทุนคืน เงินพัฒนาประเทศใช้ไปแค่ 40% นอกนั้นถอนทุนคืนหมด ถนนหนทางถึงได้พังเร็ว เพราะทำไม่เต็มที่ ไม่ได้มาตรฐาน"

            ประธานศุภชัย ย้ำด้วยว่า การเลือกตั้งต้องค่อยๆ พัฒนา ให้ความรู้ สร้างคนให้มีวินัย ขณะนี้คนไม่มีวินัย รู้แต่สิทธิ ไม่รู้หน้าที่ รู้ว่าได้ แต่ไม่รู้หน้าที่ หน้าที่พลเมืองดีมีอะไร คนส่วนใหญ่ไม่รู้ เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่พยายามเข้าไปสร้าง “ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล” กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งมีคณะกรรมการ 10 คน ที่ได้รับการอบรมจากวิทยากร ทำหน้าที่กลับไปอบรมเผยแพร่ประชาธิปไตยในตำบลของตนเอง ให้ประชาชนในตำบลนั้นๆ เข้าใจถึงหน้าที่พลเมืองในชุมชน รู้จักภัยการซื้อสิทธิขายเสียง ขณะนี้ กกต.อบรมครบทุกตำบลแล้ว ก็หวังว่าประชาชนจะเข้าใจ รู้จักสิทธิ และหน้าที่ของตนเอง

            กกต.ได้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับกระทรวงศึกษาธิการ และการศึกษานอกระบบ (กศน.) ช่วยเผยแพร่การอบรมไปยังที่ต่างๆ และให้ กศน.เป็นที่ตั้งศูนย์ส่งเสริมฯ มีครู กศน. เป็นเลขาฯ จัดอบรมเป็นรุ่นๆ ถ่ายทอดการจัดอบรม ให้มีการออกเสียงประชามติ อาศัยบุคลากรท้องถิ่นออกไปรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงมาใช้สิทธิ ตั้งเป้าไว้ว่า จะมีผู้ใช้สิทธิ 80% โครงการนี้เริ่มจัดอบรมที่ศูนย์ส่งเสริมฯ และกรรมการออกไปเผยแพร่ด้วยกรรมวิธีต่างๆ ให้ทำกิจกรรมร่วมกัน ต้านการซื้อสิทธิขายเสียงด้วย ถ้าร่วมกันหมดก็จะลดการซื้อสิทธิขายเสียงลงได้ แต่นักการเมืองก็พยายามหาช่องทางอื่น ทุกวันนี้ ไม่มีคืนหมาหอนแบบสมัยก่อน แต่รูปแบบเปลี่ยนไป เราพบทั้ง อบต. เทศบาล จัดอบรม อสม. อบรมหัวคะแนนในหมู่บ้าน พาไปทัศนศึกษา"

              "ผมบอกได้เลยว่า ผมไม่หนักใจ เพราะผมผ่านเหตุการณ์เลวร้ายเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มาได้ ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกแล้ว ตำแหน่งประธาน กกต. เป็นการอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาของผมเอง ผมต้องพยายามแก้ปัญหาให้ได้ ผมสมัครใจมาทำงานนี้เอง จะหนักใจไม่ได้ ผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดครับ" นี่คือความมุ่งมั่นของ ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.