ข่าว

ออสซี่ตื่นเครื่องบินยักษ์แอน-225

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ออสซี่ตื่นเครื่องบินยักษ์แอน-225 : เวิลด์วาไรตี้ โดยวัจน พรหโมบล

             กลายเป็นปรากฏการณ์โกลาหลกันใหญ่โต เมื่อชาวเมืองเพิร์ธ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ร่วมใจกันไปชมวินาทีประวัติศาสตร์ที่สนามบินระหว่างประเทศเมืองเพิร์ธ เมื่อช่วงเที่ยงวันอาทิิตย์ (15 พ.ค.) ที่ผ่านมา ทำให้การจราจรทางเข้าสนามบินแทบจะเป็นอัมพาต ผู้โดยสารเครื่องบินในช่วงเวลานั้นต้องลงเดินเท้าเป็นระยะทางนับกิโลเมตรเพื่อเข้าถึงตัวอาคารสนามบินให้ทัน

             แม่เหล็กที่ดึงดูดชาวออสเตรเลียเข้าไปยังสนามบินในวันนั้นคือ เครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แอนโตนอฟ แอน-225 ที่มีชื่อเรียกว่า “มรียา” (Mriya ในภาษายูเครนแปลว่า ความฝัน) ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากกรุงปราก เมืองหลวงสาธารณรัฐเชค มายังเมืองเพิร์ธ

             เท่านั้นยังไม่สำคัญพอ เพราะจุดมุ่งหมายที่ชาวออสเตรเลียมาชุมนุมกันอย่างเนืองแน่นนับหมื่นนั้น มาจากการที่เครื่องบินลำนี้เพิ่งเดินทางมายังแผ่นดินออสเตรเลียเป็นครั้งแรก !!

             เจ้า แอน-225 ลำนี้มีภารกิจบรรทุกเครื่องกำเนิดไฟฟ้าน้ำหนัก 117 ตัน มาส่งยังเมืองเพิร์ธ ซึ่งสิ่งของที่มีน้ำหนักเพียงเท่านี้ แอน-225 บอกว่า สบายๆ เพราะระวางบรรทุกน้ำหนักของเครื่องบินขนส่ง 6 เครื่องยนต์ลำนี้สูงถึง 250 ตัน (ภายในลำตัว) แม้แต่กระสวยอวกาศ “บูราน” ของรัสเซียก็เคยใช้บริการ แอน-225 เป็นพาหนะคู่ใจในการเดินทางไปยังรอสโคนอส สถานที่ปล่อยจรวดสู่อวกาศของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในประเทศยูเครนมาแล้ว

             อันที่จริง แอน-225 ลำนี้ ก็มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับสหภาพโซเวียตเป็นสำคัญ เครื่องบินยักษ์ลำนี้เกิดขึ้นมาจากความคิดแรกเริ่มคือการนำส่งกระสวยอวกาศของโซเวียตไปยังรอสโคนอส ทำให้หน่วยงานด้านอวกาศรัสเซียต้องวางแผนกับแอนโตนอฟ ผู้ผลิตเครื่องบินอันดับหนึ่งของสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันแอนโตนอฟเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลยูเครน)ในการดัดแปลงเครื่องบินลำเลียงขนาดยักษ์รุ่นแอน-124 ที่ถือว่าใหญ่ยักษ์อยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพียงพอต่อการขนส่งกระสวยอวกาศ

             จึงมีการปรับโครงสร้างแอน-124 ใหม่ทั้งหมด ด้วยการเพิ่มความยาวของปีก เสริมความแข็งแรงเข้าไป เพิ่มเครื่องยนต์จาก 4 เครื่อง เป็น 6 เครื่อง เพิ่มจุดยึด (ที่เห็นเป็นโหนกคู่บริเวณโคนปีก) กระสวยอวกาศเข้าไป เปลี่ยนแพนหางทั้งชุดเป็นแบบใหม่ ที่มีแพนหางระดับกว้างขึ้นและมีแพนหางดิ่งคู่ เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสลมวนอันเกิดจากท้ายกระสวยอวกาศ ทำให้เป็นจุดเด่นสำคัญของเครื่องบินยักษ์รุ่นนี้

             การอัพเกรดเครื่องบินลำเลียงรุ่นนี้ก็แล้วเสร็จเป็นลำแรกในปี 2531 ซึ่งเป็นช่วงปลายของสหภาพโซเวียต โดยขึ้นบินเที่ยวแรกจากกรุงเคียฟ ไปยังกรุงปารีส เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 และแอน-225 ก็ให้บริการการขนส่งทางอากาศให้กับกองทัพรัสเซียอยู่ 8 ปี ระหว่างนั้นก็มีการอัพเกรดเจ้าแอน-124 อีกลำหนึ่งเพื่อสร้าง แอน-225  แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย แตกแยกประเทศขนาดใหญ่ออกเป็นกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ยูเครน ทำให้มีการลดงบประมาณด้านอวกาศรวมไปถึงด้านการทหาร จนทำให้ทางการยูเครนในฐานะเจ้าของเครื่องบินลำเลียงที่ใหญ่ที่สุดในโลกลำนี้ ปลดประจำการยักษ์ใหญ่ในที่สุด และจอดนกยักษ์ลำนี้ทิ้งไว้ในสุสานเครื่องบินในยูเครน กลายเป็นวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ไร้งบประมาณมาบำรุงรักษา ถูกทิ้งให้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา

             แต่ด้วยการที่โลกหมุนไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความเจริญต่างๆ เกิดขึ้นมาในหลายพื้นที่ของโลก ทำให้เกิดความต้องการเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ของเอกชนเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่มากจนเครื่องบินขนส่งสินค้าเช่น โบอิ้ง 747-400 F (ในสมัยนั้นถือเป็นเครื่องบินขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ให้บริการได้จริง) ไม่สามารถรองรับได้ แอนโตนอฟของยูเครน จึงหันมามองยังเครื่องบินยักษ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ของสหภาพโซเวียต ที่จอดอยูjหลังบ้านของตน และเริ่มโครงการฟื้นสภาพแอน-225 ขึ้นมาเมื่อปี 2543

             ทั้งยังมีการจัดตั้ง แอนโตนอฟ แอร์ไลน์ (Antonov Airline) ขึ้นมาเพื่อให้บริการการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ทางอากาศ โดยใช้เครื่องบินรุ่นยักษ์ทั้ง แอน-124 และแอน-225 เป็นม้างานหลัก

             แอนโตนอฟ ประกาศว่าใช้เงินลงทุนกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการฟื้นคืนชีพเจ้า แอน-225 ขึ้นมาจากซากอะลูมิเนียมในสุสาน โชคดีที่โครงสร้างหลักของตัวเครื่องยังคงอยู่ในสภาพที่ดี มีแต่การเปลี่ยนพื้นผิวภายนอกของลำตัว ยกเครื่องยนต์ทั้ง 6 ใหม่ โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบแฟนของ อีฟเชงโก-โพรเกรส ดี-18 ที มาติดตั้ง แต่ละเครื่องให้กำลังขับสูง 51,600 ปอนด์ต่อเครื่อง มีการติดตั้งระบบนำร่อง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการเดินอากาศใหม่ทั้งหมด ถอดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทหารออกไป เพื่อเปลี่ยนบทบาทแอน-225 จากเครื่องบินลำเลียงทางทหารให้เป็นเครื่องบินลำเลียงของเอกชนอย่างสมบูรณ์

             โครงการนี้แล้วเสร็จเมื่อปี 2544 และเครื่องแอน-225 ในบทบาทใหม่ก็เริ่มต้นด้วยการขนส่งรถถัง 4 คัน น้ำหนักรวม 253.82 ตัน เป็นระยะทาง 1,000 กิโลเมตรเป็นเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เที่ยวแรก

             แอน-225 เคยบรรทุกสินค้าที่หนักที่สุดจนเป็นสถิติโลกมาแล้ว ด้วยการขนส่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับโรงงานก๊าซธรรมชาติในอาร์เมเนีย ที่มีน้ำหนักถึง 417,000 ปอนด์ มาแล้วเมื่อปี 2552

             ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเครื่องบินลำนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 99 ดอลลาร์สหรัฐต่อไมล์ทะเล ขณะที่เครื่องบินขนส่งเชิงพาณิชย์ลำอื่นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 69.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อไมล์ทะเล ถ้าใครคิดจะลองใช้บริการก็ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายกันดีๆ เดี๋ยวจะกระเป๋าฉีกกันไม่รู้ตัว


เรื่องไม่ลับของแอน-225

             1.เป็นเครื่องบินที่ออกแบบมาสำหรับบรรทุกกระสวยอวกาศ โดยได้รับการดัดแปลงมาจากเครื่องบินลำเลียง แอน-124 เช่นเดียวกับที่นาซาดัดแปลงเครื่องบินโบอิ้ง 747-200 เพื่อใช้ในการบรรทุกกระสวยอวกาศ โดยมีจุดเด่นที่พวงหางคู่คล้ายกัน

             2.มีความกว้างของปีกมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ที่ 84 เมตร เป็นรองเพียงปีกเครื่องบิน ล็อคฮีท เอช-4 เฮอร์คิวลิส เครื่องบินทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เกิดจากความคิดของนายโฮเวิร์ท ฮิวจ์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันผู้มีความคิดก้าวหน้าในทศวรรษ 2490 ที่มีปีกกว้า่งถึง 94 เมตร

             3.มีลำตัวยาวที่สุดในโลก ด้วยความยาว 84 เมตร ขณะที่โบอิ้ง 747-8 มีลำตัวยาว 68.5 เมตร และแอร์บัส เอ 380 ยาว 73 เมตร

             4.ฐานล้อหลัก 28 และฐานล้อหน้า 4 ล้อ สามารถรองรับน้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 640 ตัน และสามารถ “คุกเข่า” ได้ด้วยการพับฐานล้อหน้าลง เพื่อการลำเลียงสินค้าขนาดใหญ่ออกทางด้านหน้าตัวเครื่อง

             5.พิสัยการบินสูงสุด 15,400 กิโลเมตร เพดานบินสูงสุด 36,000 ฟุต บรรทุกเชื้อเพลิงเต็มพิกัดที่ 3 แสนกิโลกรัม หรือ 14 เท่าของพิสัยบรรทุกเชื้อเพลิงสูงสุดของเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-800

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ